Back
อธิการบดี - อธิการ


ได้เคยมีผู้ถามปัญหาว่าในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ว่า ทำไมจึงมีตำแหน่ง "อธิการบดี" "เลขาธิการ" และ "คณบดี" ด้วย คำเหล่านี้มีประวัติความเป็นมาอย่างไร เพราะชื่อเหล่านี้มีลักษณะเป็นคำทางศาสนาอยู่

ข้าพเจ้าได้อ่านบันทึกในหัวข้อว่า "กรรมการชำระปทานุกรมทำอะไร" ที่อาจารย์เจริญ อินทรเกษตร อดีตเลขาธิการ ราชบัณฑิตยสถาน ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการชำระปทานุกรม ในสมัยแรก ๆ ได้บันทึกไว้ และราชบัณฑิตยสถานได้จัดตีพิมพ์รวมไว้ในหนังสือชื่อ "ความรู้ทางอักษรศาสตร์" ไว้ นับว่าน่าสนใจมากดังนี้

"รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ (เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี) ขอให้ตั้งคำไทยใช้แทนคำ Rector และ Secretariate คำ Rector นั้นเป็นคำสำหรับใช้เรียกตำแหน่งหัวหน้าจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ซึ่งแต่เดิมเรียกว่า ผู้บัญชาการจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย.

"หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ (ต่อมาทรงดำรงอิสริยยศและฐานันดรศักดิ์ เป็น พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) ทรงแนะว่ามหาวิทยาลัยของฝรั่งแต่ก่อนคือวัด เจ้าหน้าที่ประจำก็ได้แก่พระ เพราะฉะนั้น Rector ควรใช้ว่า อธิการ จะได้เข้ารูปตามตำนาน.

"ที่ประชุมเห็นชอบด้วย (คำ อธิการ นี้ มีใช้สำหรับคณะสงฆ์ว่า "เจ้าอธิการ" และ "พระอธิการ" ซึ่งหมายถึง พระภิกษุผู้เป็นสมภาร แต่ตำแหน่งที่ตั้งใหม่นี้ใช้ว่า "อธิการ" เฉย ๆ เช่น "อธิการจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย" นับว่าไม่ขัดกัน) และคำว่า Secretariate นั้น ที่ประชุมตกลงว่า ควรใช้ "สำนักเลขาธิการ" (ซึ่งเป็นทั้งสถานที่ก็ได้ หรือเป็นสมุหนาม คือหมายถึง คน ในสำนักนั้นก็ได้)

"หมายเหตุ : บัดนี้ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ใช้ว่า "อธิการบดี"

คำว่า "อธิการ" พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. เรียกพระที่ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสซึ่งไม่มีสมณศักดิ์อย่างอื่นว่า พระอธิการ, เรียกพระที่ดำรงตำแหน่งพระอุปัชฌาย์หรือเจ้าคณะตำบลซึ่งไม่มีสมณศักดิ์อย่างอื่นว่า เจ้าอธิการ; ตำแหน่งผู้เป็นใหญ่ในการบริหารมหาวิทยาลัย." ส่วนคำว่า "อธิการบดี" ซึ่งเป็นลูกคำของคำว่า "อธิการ" นั้น พจนานุกรมได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. ตำแหน่งผู้เป็นใหญ่ ในการบริหารมหาวิทยาลัย."

ส่วนคำว่า "เลขาธิการ" นั้นพจนานุกรม ได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. ผู้เป็นหัวหน้าทำงานเกี่ยวกับหนังสือได้สิทธิ์ขาด. (สันสกฤต เลขาธิการี ว่า เสมียนของพระเจ้าแผ่นดิน)." และคำว่า "เลขานุการ" พจนานุกรมได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับหนังสือตามที่ผู้ใหญ่สั่ง."

นอกจากนั้นในวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย ยังมีตำแหน่งที่สำคัญอีกตำแหน่งหนึ่งคือ "คณบดี" ซึ่งพจนานุกรมได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. หัวหน้าคณะในมหาวิทยาลัย." ซึ่งยังบกพร่องอยู่เพราะในวิทยาลัย ซึ่งแบ่งเป็นคณะต่าง ๆ ก็มี "คณบดี" เช่นกัน

การที่พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงบัญญัติคำว่า "อธิการ" แทนคำภาษาอังกฤษว่า Rector โดยเหตุผลที่ในประเทศต่าง ๆ ในยุโรปและอเมริกา มหาวิทยาลัยเก่าแก่ทั้งหมด เช่น ออกซฟอร์ด เคมบริดจ์ ฮาวารร์ด เยล ฯลฯ ล้วนเป็นมหาวิทยาลัยที่นักบวชในศาสนาคริสต์ได้ตั้งขึ้นทั้งนั้น พระองค์จึงทรงบัญญัติคำว่า "อธิการ" ขึ้นมาใช้แทน ซึ่งความจริงคำว่า "อธิการ" เป็นตำแหน่งทางพระพุทธศาสนาที่เรียกเจ้าคณะพระคณาธิการระดับเจ้าอาวาสธรรมดา ๆ ที่ไม่มีสมณศักดิ์ว่า "พระอธิการ" แต่ถ้าเป็นพระอุปัชฌาย์หรือเจ้าคณะตำบลที่ไม่มีสมณศักดิ์ ก็เรียกต่างออกไปว่า "เจ้าอธิการ" จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอาคารเรียนในคณะอักษรศาสตร์นั้น ก็มีรูปร่างลักษณะคล้าย ๆ โบสถ์วิหารพระอารามหลวงอยู่เหมือนกัน เพราะหลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีดุจดังโบสถ์วิหารวัดทั่ว ๆ ไป

ส่วนคำว่า "คณบดี" ตามศัพท์ก็แปลว่า "ผู้เป็นใหญ่ในคณะ" ก็คล้าย ๆ กับ "เจ้าคณะ" ในพระอารามหลวงทั่ว ๆ ไป ซึ่งมักแบ่งออกเป็นคณะ ๆ บางวัดมีมากกว่า ๒๐ คณะ แต่ละคณะก็มี "เจ้าคณะ" ปกครองดูแลภิกษุสามเณรและศิษย์วัดในคณะของตนแทนเจ้าอาวาส แต่ท่านไม่เรียกว่า "คณบดี"

นักเรียนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกว่า "นิสิต" ก็เป็นศิษย์วัดอีกนั่นแหละ คำว่า "นิสิต" ใช้คู่กับ "นิสัย" เวลาบวชพระ นาคจะต้องนำดอกไม้ธูปเทียนไปขอ "นิสัย" กับพระอุปัชฌาย์ คือขอให้ท่านเป็นที่พึ่งของตนในด้านการศึกษาอบรมในพระธรรมวินัย พระอุปัชฌาย์จึงเป็น "นิสัย" ส่วนนาคที่เข้าไปขอนิสัย ก็เป็น "นิสิต" ซึ่งแปลว่า ผู้เข้าไปขอพึ่งพระอุปัชฌาย์คือต้องไปอยู่ในวัด อยู่ในความดูแลอบรมสั่งสอนของพระอุปัชฌาย์อย่างใกล้ชิด พระภิกษุสามเณรที่ศึกษาเล่าเรียนอยู่ในมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระ บรมราชูปถัมภ์ ที่วัดมหาธาตุ ก็เรียกตนเองว่า "นิสิต" เช่นกัน และคงเป็นเพราะเหตุนี้เมื่อนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศึกษาจบจะรับปริญญาเป็น "บัณฑิต" ก็ต้องสวมเสื้อครุย ซึ่งก็คล้าย ๆ กับขุนนางไทยและนาคที่จะเข้าอุปสมบท เมื่อผู้เข้ารับการอุปสมบทได้ศึกษาเล่าเรียนและลาสิกขาแล้ว ชาวบ้านจึงเรียกว่า "ทิด" ซึ่งก็กร่อนมาจาก "บัณฑิต" นั่นเอง.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๒๕ กุมภาพันธ์๒๕๓๕
Back