Back
อธิบดี - อธิบดีสงฆ์


คำที่บอกถึงตำแหน่งที่สำคัญในหน่วยราชการตำแหน่งหนึ่งซึ่งเกือบจะป็นตำแหน่งสุดยอดในความหวังของข้าราชการพลเรือนก็คือคำว่า "อธิบดี" ซึ่งเป็นตำแหน่งหัวหน้ากรม เช่น อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ อธิบดีกรมศิลปากร อธิบดีกรมวิชาการ ฯลฯ

คำว่า "อธิบดี" มาจากคำบาลีและสันสกฤตว่า "อธิปติ" ตามศัพท์แปลว่า "นายใหญ่" เมื่อนำมาใช้ก็แผลง ป เป็น บ แผลง ต เป็น ด และทีฆะ อิ เป็น อี จึงเป็น "อธิบดี"

พจนานุกรมได้ให้บทนิยามของคำว่า "อธิบดี" ไว้ดังนี้ "น. ผู้เป็นใหญ่, ผู้ปกครอง, หัวหน้า, เช่น อธิบดีสงฆ์ อธิบดีผู้พิพากษา; ตำแหน่งหัวหน้ากรมในราชการ. ว. มีความเจริญสวัสดิมงคล ทางโหราศาสตร์นิยมใช้ประกอบการมงคลต่าง ๆ ในวันยาม ฤกษ์ ราศี และดิถีที่เป็นอธิบดี ทั้งนี้ตลอดปีนั้น, ตรงข้ามกับ โลกาวินาศ."

คำว่า "อธิบดี" นี้ บางทีเราก็เอามาเข้าสนธิเป็นส่วนท้ายของคำก็มี เช่นพระราชาธิบดี ประธานาธิบดี ซึ่งก็หมายถึง "ผู้เป็นใหญ่" นั่นเอง

คำที่คนทั่ว ๆ ไปไม่ค่อยได้พบบ่อยนักก็คือคำว่า "อธิบดีสงฆ์" ซึ่งในพจนานุกรมได้ให้เป็นตัวอย่างของคำว่า "อธิบดี" ไว้ แต่มิได้ให้บทนิยามความหมายคำนี้ไว้ บางคนอาจเข้าใจว่า "ผู้เป็นใหญ่ในหมู่สงฆ์" ก็ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ เจ้าอาวาสซึ่งก็เป็นใหญ่ในวัดก็น่าจะเป็น "อธิบดีสงฆ์" ได้

เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ ข้าพเจ้าได้เดินทางไปแสดงปาฐกถาในการปฐมนิเทศที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ วิทยาเขตสุรินทร์ ได้ไปพบ "ประกาศ" ฉบับหนึ่งที่ศาลาแห่งหนึ่งซึ่งสร้างไว้ใหญ่โตโอ่โถงมากมีข้อความดังนี้



"ที่พิเศษ/๒๕๓๔
วัดป่าชัยรังสี


๑๔ กุมภาพันธ์๒๕๓๔


ศาลาเฉลิมพระเกียรติหลังนี้ ขอมอบเป็นสมบัติของประชาชน แต่อยู่ในความรับผิดชอบของผู้ใหญ่บ้านโคกกระเพอ จนกว่าการก่อสร้างโรงเรียนมัธยมเรียบร้อย จึงมอบให้เป็นสมบัติของโรงเรียนนี้

อนึ่งทางราชการจะใช้สถานที่ต้องการใช้ศาลานี้ และการจัดกิจกรรมเป็นประโยชน์ของประชาชนก็ใช้ได้ แต่ต้องรับอนุญาตจากผู้ใหญ่บ้านโคกกระเพอเสียก่อน เพราะข้าพเจ้ามอบให้ผู้ใหญ่บ้านโคกกระเพอเป็นผู้ดูแลและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

๑๔ - ๓ - ๓๔
พระราชญาณรังสี
(พระอาจารย์จันทร์ คเวสโก)
อธิบดีสงฆ์วัดป่าชัยรังสี - สมุทรสาคร
เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างศาลาเฉลิมพระเกียรติ"

เมื่อข้าพเจ้าได้อ่าน "ประกาศ" ฉบับนี้ซึ่งเป็นสำเนาพิมพ์ดีดในกรอบตั้งไว้ในศาลาเฉลิมพระเกียรตินี้แล้ว ก็รู้สึกว่าแม้แต่พระผู้ใหญ่ในวงการคณะสงฆ์เองท่านก็ยังไม่ทราบว่าคำว่า "อธิบดีสงฆ์" หมายความว่ากระไร ควรจะใช้ในฐานะเช่นใด วัดป่าชัยรังสีก็เป็นวัดราษฎร์ และก็ไม่ใหญ่โตอะไรนัก ผู้ปกครองดูแลวัดก็มีฐานะเป็นเพียง "เจ้าอาวาส" รูปหนึ่งเช่นเดียวกับพระอารามหลวงและวัดราษฎร์ทั่ว ๆ ไป เท่านั้น แต่ก็คงเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของท่านนั่นเอง จึงได้นำเอาคำว่า "อธิบดีสงฆ์" ไปใช้ ต่อไปอาจนำเอาคำว่า "ประธานาธิบดีสงฆ์" ไปใช้บ้างก็เป็นได้

คำว่า "ประธานาธิบดีสงฆ์" นั้นใช้เฉพาะกับสมเด็จพระสังฆราชเท่านั้น แม้แต่สมเด็จพระราชาคณะก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะนำไปใช้ได้ ส่วนคำว่า "อธิบดีสงฆ์" นั้นมีใช้ในวงจำกัด คือใช้เฉพาะกับท่านที่เป็นเจ้าอาวาสพระอารามหลวงซึ่งเป็นสถานที่ตั้งมหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัยของสงฆ์เท่านั้นเท่าที่ทราบก็มีเพียง ๒ วัด คือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามหรือวัดโพธิ์ ซึ่งถือว่าเป็นวัดมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย กับวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาธาตุวิทยาลัย และมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์เท่านั้น ความจริงเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารจะใช้คำว่า "อธิบดีสงฆ์" ก็ย่อมจะใช้ได้ เพราะที่วัดนี้ก็เป็นที่ตั้งของสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระ บรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์เช่นกัน แต่ตามปรกติท่านก็ไม่ได้ใช้

ที่ข้าพเจ้านำเรื่องนี้มาเสนอท่านผู้ฟัง ก็เพื่อจะได้ใช้ได้ถูกต้อง โดยเฉพาะทางฝ่ายคณะสงฆ์ก็ควรจะได้ทราบถึงความควรและความไม่ควรในการที่จะนำคำต่าง ๆ ไปใช้ด้วย มิฉะนั้น ต่อไปสมภารหรือเจ้าอาวาสวัดเล็กวัดน้อยก็จะพลอยตั้งตัวเป็น "อธิบดีสงฆ์" ไปด้วย และข้าพเจ้าขอแนะนำว่าคำ "ประกาศ" ที่ศาลาเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสุรินทร์นั้นควรจะถอนออกไป แล้วพิมพ์มาติดตั้งไว้ใหม่ให้ถูกต้องแก่ฐานะของท่านผู้ดำเนินการก่อสร้างศาลาเฉลิมพระเกียรติด้วย.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๒๙ พฤษภาคม๒๕๓๔
Back