Back
อักษรนำ


ในปัจจุบัน ข้าพเจ้ารู้สึกว่าประชาชนชาวไทยเรามีความสนใจเรื่อง "ภาษาไทย" มากขึ้นตามลำดับ เมื่อวันที่ ๒๒ - ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๔ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชก็ได้มีการอบรมหลักสูตรผู้ประกาศและผู้ดำเนินรายการทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ มีผู้เข้ารับการอบรม ๗๒ คน มากกว่าที่กำหนดไว้ และข้าพเจ้าก็ได้รับเชิญให้พูดเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยเป็นคนแรก ในวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๔ ก็ได้รับเชิญไปบรรยายเรื่อง "ข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย" ในการอบรมผู้ช่วยผู้พิพากษาภาควิทยาการรุ่นที่ ๓๑ ณ สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการ ซึ่งก็ได้ไปบรรยายในวิชานี้มาหลายรุ่นแล้ว ปัญหาหนึ่งเกี่ยวกับภาษาไทยที่มักมีผู้ถามเสมอก็คือเรื่อง "อักษรนำ" ทั้งนี้เพราะในภาษาไทยเรา มีคำที่มาจากภาษาอื่นอยู่เป็นส่วนใหญ่ คำไทยที่มิใช่คำที่มาจากภาษาบาลี สันสกฤต หรือ ภาษาฝรั่ง ไม่ว่าจะเป็นคำไทยแท้ ๆ หรือเป็นคำไทยที่เราได้รับมาจากภาษาเขมรก็ตาม ถ้าหากเป็นคำ ๒ พยางค์ การที่จะสังเกตว่าคำใดจะออกเสียงอย่างไรนั้น ก็ต้องพิจารณาว่าคำที่อยู่ข้างหน้าเป็นคำที่มีอักษรสูง อักษรกลาง หรืออักษรต่ำนำ ตามปรกติพยางค์หลังจะออกเสียงตามพยางค์หน้า

ในเบื้องต้น ต้องยึดหลักเรื่อง "อักษรนำ" ไว้เป็นแนวก่อน ดังที่อาจารย์กำชัย ทองหล่อ ได้อธิบายไว้ในหนังสือ "หลักภาษาไทย" ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

๑. ต้องเป็นพยัญชนะ ๒ ตัวประสมกัน และอยู่ร่วมในสระเดียวกัน

๒. สระตัวใดที่ใช้เขียนไว้ข้างหน้า ก็ต้องเขียนไว้ข้างหน้าอักษรนำเหมือนอักษรธรรมดา เช่น เขนย แสยง ไฉน ฯลฯ สระตัวใดใช้เขียนคร่อม ก็ต้องเขียนคร่อมอักษรนำเหมือนอักษรธรรมดาด้วย เช่น เฉลียว เขยิบ ฯลฯ สระที่ใช้เขียนไว้ข้างบน ข้างล่าง และหลังพยัญชนะ รวมทั้งรูปวรรณยุกต์ด้วย ให้เขียนไว้ที่ตัวที่ ๒ ของอักษรนำ เช่น สระ สมิง ฉลุ ฯลฯ ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่า แม้จะเขียนคู่กันเป็น ๒ ตัว ก็ต้องถือว่าได้ประสมเป็นตัวเดียวกันแล้ว เพราะเราไม่มีการเขียนพยัญชนะ ๒ ตัว ให้เป็นตัวเดียวกันได้เหมือนพยัญชนะบาลีและสันสกฤต

๓. ตามปรกติ อักษรนำ เวลาออกเสียง จะปรากฏเสียงพยัญชนะ ๒ ตัวผสมกันคนละครึ่ง พอสังเกตรู้ได้ว่า พยัญชนะอะไรประสมกัน แต่มียกเว้นพยัญชนะอยู่ ๒ ตัว คือ ห กับ อ

ตัว ห เมื่อเป็นตัวนำอักษรเดี่ยว ไม่ต้องออกเสียงคนละครึ่งเหมือนอักษรนำอื่น ๆ แต่ให้ออกเสียงประสมกันสนิทเหมือนอักษรควบแท้ เช่น หนู หมอ ใหญ่ ฯลฯ

ตัว อ เมื่อนำหน้า ตัว ย ไม่ต้องออกเสียงเหมือนอักษรนำธรรมดา ให้ออกเสียงทำนองเดียวกับ ห นำ แต่เป็นเสียงอักษรกลาง คือ อย่า อยู่ อย่าง อยาก มี ๔ คำเท่านั้น

๔. พยัญชนะตัวนำหน้าจะเป็นอักษรสูง อักษรกลาง หรือ อักษรต่ำ ก็ได้ เช่น

อักษรสูงนำ :
ขนม ฉนำ ถวิล ผนัง ฝรั่ง ฯลฯ
อักษรกลางนำ :
กนก จรัส จริต ปรอท ฯลฯ
อักษรต่ำนำ : ชลอ เชลย พนอ แพนง ฯลฯ

ข้อควรสังเกตก็คือว่า ถ้าพยัญชนะตัวหน้าซึ่งเป็นอักษรนำนั้น เป็นอักษรสูงหรืออักษรกลาง และพยัญชนะตัวหลังเป็นอักษรเดี่ยว (คือ ง ญ ณ น ม ย ร ล ว ฬ) อักษรเดี่ยวนั้นจะต้องออกเสียงและผันเสียงอย่างอักษรสูงหรืออักษรกลางซึ่งเป็นตัวนำ แต่ก็มียกเว้นบางคำที่ไม่อ่านตามกฎนี้ ซึ่งถือว่าเป็นการ "อ่านตามความนิยม" เช่น กฤษณะ วิษณุ อัศวิน เอกราช ฯลฯ แต่ถ้าพยัญชนะตัวหลังมิใช่อักษรเดี่ยว ก็ให้ออกเสียงอย่างปรกติ ไม่ต้องออกเสียงตามอักษรสูงหรืออักษรกลางซึ่งเป็นตัวนำ เช่น สกุล แสดง ไผท เผอิญ เผชิญ สตางค์ แสตมป์ ฯลฯ

๕. จะใช้อักษรสูงนำอักษรสูงด้วยกันก็ได้ เช่น สถานี สถูป สถิต ฯลฯ หรือจะใช้อักษรต่ำนำอักษรต่ำก็ได้ เช่น เชลย เชลียง คณิต ฯลฯ แต่อักษรกลางนำอักษรกลางไม่มีที่ใช้

๖. ถ้าเป็นตัวสะกด ให้ถือตัวหน้าเป็นตัวสะกดแต่ตัวเดียว แต่พร้อมกันนั้น ก็ทำหน้าที่เป็นตัวนำด้วย เช่น พิศวาส พิศวง กฤษณา ทฤษฎี ฯลฯ แต่ถ้าเป็นตัวการันต์จะเป็นด้วยกันทั้ง ๒ ตัว หรือทั้ง ๓ ตัวก็ได้ เช่น ลักษณ์ ลักษมณ์ หรือจะเป็นเพียงตัวเดียวก็ได้ เช่น แพทย์ สัตว์ ฯลฯ

๗. วิธีสังเกตอักษรนำ
ก. สังเกตเสียง คือ ออกเสียงประสมกันแต่ไม่กล้ำกันสนิทเหมือนอักษรควบแท้ ยกเว้น ตัว ห และ ตัว อ ที่เป็นตัวนำ
ข. สังเกตรูปสระ คือ ถ้าเป็นสระ เอ แอ โอ ไอ จะต้องเขียนไว้หน้าอักษรนำ เช่น เฉลย แถลง ไฉน ฯลฯ ถ้าเป็นสระคร่อมต้องเขียนคร่อมทั้ง ๒ ตัว เช่น เสมียน เถลิง ฯลฯ
ค. สังเกตรูปพยัญชนะ คือ ถ้าอักษรนำเป็นอักษรสูง หรืออักษรกลาง อักษรเดี่ยวซึ่งเป็นตัวที่ ๒ จะต้องออกเสียงเป็นเสียงสูงหรือกลางตามไปด้วย เช่น กนก ถนน สนิม ฯลฯ ในที่นี้ นก นน และ นิม ต้องออกเสียงให้เป็น หนก หนน หนิม ซึ่งผิดกับเมื่ออยู่ตามลำพัง

๘. ตัว ห ให้เป็นตัวนำเฉพาะอรรธสระคือเสียงกึ่งสระกึ่งพยัญชนะ (คือ ย ร ล ว) และพยัญชนะตัวสุดท้ายของพยัญชนะวรรค (คือ ง ญ ณ น ม) เท่านั้น (แต่ ณ ไม่มีที่ใช้) เช่น หยด หยอก หรีด หรือ หลง หล่อ หวัง หวัด หงอก หงาย หญ้า หญิง หนู หนี หมา หมู ฯลฯ

๙. อักษรควบบางตัวก็ใช้เป็นอักษรนำได้ เช่น ปรารถนา.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๒๕ พฤศจิกายน๒๕๓๔
Back