Back

อัฐ - ฬส

คำที่เกี่ยวกับเงินตราในสมัยโบราณซึ่งพวกเด็ก ๆ ในปัจจุบันแทบจะไม่รู้จักแล้ว แต่ก็คงได้ยินสำนวนที่ผู้ใหญ่พูดกันบ้าง เช่น ของนี้ราคาไม่กี่อัฐฬสดอก ซึ่งก็หมายความว่าราคาไม่แพงนัก พอซื้อได้ แต่ปัญหาก็มีว่าคำว่า "อัฐฬส" หมายความว่าอย่างไร

คำว่า "อัฐ" มาจากคำภาษาบาลีว่า "อฏฺฐ" แปลว่า "แปด" หนังสือปทานุกรม ฉบับกรมตำรา กระทรวงธรรมการ ยังเขียนตามรูปบาลีเป็น "อัฏฐ" และได้ให้ความหมายไว้ดังนี้ "ว. แปด (ไทยเขียนเป็นอัฐ ก็มี). เหรียญทองแดงซึ่งเป็น ๑ ใน ๘ แห่งเฟื้อง."

คำว่า "ฬส" กร่อนมาจากคำบาลีว่า "โสฬส" แปลว่า "สิบหก" ปทานุกรมเก็บไว้เฉพาะ "โสฬส" บอกว่าเป็นคำมคธและให้ความหมายไว้ว่า "ว. สิบหก." และให้คำสันสกฤตเป็นแนวเทียบไว้ว่า "โษฑศ"

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้เก็บไว้ทั้ง "อัฏฐะ" และ "อัฐ" ที่ "อัฏฐะ" ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้ "(คำแบบ) น. แปด. "ส่วนคำว่า "อัฐ" ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้ "ว. แปด. (โบราณ) น. เหรียญทองแดง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในแปดแห่งเฟื้อง." คำว่า "ฬส" ก็มิได้เก็บไว้เช่นกัน แต่เก็บคำว่า "โสฬส" ไว้ และให้ความหมายดังนี้ "ว. สิบหก. น. ชั้นพรหมโลก สิบหกชั้น ถือกันว่าเป็นที่มีสุขอย่างยอดยิ่ง; ตำราเล่นการพนันครั้งโบราณ สำหรับเล่นหวย เล่นถั่ว; เรียกเงินปลีกสมัยก่อนสิบหกอันเป็นเฟื้อง, เรียกย่อว่า ฬส."

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้เก็บไว้ทั้ง "อัฏฐ, อัฏฐะ" และ "อัฐ" ที่ "อัฏฐ, - อัฏฐะ" ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้ "(คำแบบ) ว. แปด." ส่วนคำว่า "อัฐ" ได้แยกเก็บเป็น "อัฐ ๑" และ "อัฐ ๒" เฉพาะ "อัฐ ๑" ได้ตั้งคู่กับคำว่า "อัฐฬส" โดยให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. เงิน, เงินตรา, เช่น คนมีอัฐ ราคาไม่กี่อัฐฬส; (โบราณ) เหรียญทองแดงซึ่งเป็นส่วน ๑ ใน ๘ แห่งเฟื้อง." และมีลูกคำที่เป็นสำนวนอยู่สำนวนหนึ่งคือ "อัฐยายซื้อขนมยาย" โดยได้ให้ความหายไว้ดังนี้ "ก. เอาทรัพย์จากผู้ปกครองหญิงที่จะขอแต่งงานด้วย มอบให้เป็นสินสอดทองหมั้นแก่ผู้ปกครองหญิงนั้นโดยสมรู้กัน, โดย ปริยายหมายถึง การกระทำอย่างอื่นในทำนองเดียวกันนี้ เช่น เอาทรัพย์จาก ผู้ใดผู้หนึ่งซื้อหรือแลกสิ่งของมีค่าของผู้นั้น ก็ว่า อัฐยายซื้อขนมยาย."

ส่วน "อัฐ ๒" พจนานุกรม ฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้ "ว. แปด." และ มีลูกคำอยู่ ๔ คำ คือ

๑. อัฐเคราะห์ (อัด-ถะ-เคราะ) (โหราศาสตร์) น. เรียกดาวเฉพาะ ๘ ดวง คือ อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ เสาร์ พฤหัสบดี ราหู ศุกร์ ที่จัดเข้าระเบียบเป็นบริวาร อายุ เดช ศรี มูละ อุตสาหะ มนตรี และกาลกรรณี โดยเวียนขวาไปตามทิศทั้ง ๘ คือ บูรพา อาคเนย์ ทักษิณ หรดี ประจิม พายัพ อุดร และอีสาน ว่า ทักษา.

๒. อัฐทิศ (อัด-ถะ-ทิด) น. แท่นที่ประทับรับน้ำอภิเษกในพระราชพิธี บรมราชาภิเษก, เรียกเต็มว่า พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์.

๓. อัฐบริขาร (อัด-ถะ-บอ-ริ-ขาน) น. เครื่องใช้สอยของพระภิกษุในพระพุทธศาสนามี ๘ อย่าง คือ สบง จีวร สังฆาฏิ บาตร มีดโกนหรือมีดตัดเล็บ เข็ม ประคดเอว ผ้ากรองน้ำ (ธมกรก = ทะ-มะ-กะ-หรก).

๔. อัฐศก น. เลข ๘ ที่เป็นตัวท้ายแห่งจุลศักราช.

ส่วนคำว่า "ฬส" พจนานุกรม ฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๕ มิได้เก็บไว้ แต่ได้เก็บคำว่า "โสฬส" ไว้ และให้บทนิยามอย่างเดียวกับในพจนานุกรม ฉบับ พ.ศ. ๒๔๙๓ เพียงแต่เปลี่ยนเลขที่พิมพ์เป็นตัวหนังสือมาเป็นตัวเลขเท่านั้นดังนี้ "ว.สิบหก. น. ชั้นพรหมโลก ๑๖ ชั้น ถือกันว่าเป็นที่มีสุขอย่างยอดยิ่ง; ตำราเล่นการพนันครั้งโบราณสำหรับเล่นหวย เล่นถั่ว; เรียกเงินปลีกสมัยก่อน ๑๖ อันเป็น ๑ เฟื้อง, เรียกย่อว่า ฬส."

คำว่า "เฟื้อง" พจนานุกรมทั้งฉบับ พ.ศ. ๒๔๙๓ และฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. มาตราเงินอย่างเก่าคือ ๘ อัฐเป็น ๑ เฟื้อง, เท่ากับ ๑๒ สตางค์ครึ่ง."

คำว่า "อัฐ" และ "โสฬส" ซึ่งเรียกย่อ ๆ ว่า "ฬส" นั้น ก็คือ ๑ ใน ๘ ส่วนของเฟื้องและ ๑ ใน ๑๖ ส่วนของเฟื้องตามลำดับ ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนเงินที่น้อยมาก คือ ๑ อัฐ ก็เท่ากับ ๑ สตางค์ และ ๑ โสฬสหรือ ๑ ฬส ก็เท่ากับ ๓ หรือ ๐.๗๕ สตางค์ คือ ไม่ถึง ๑ สตางค์ จึงนับว่าจำนวนน้อยมาก เพราะฉะนั้นก็พูดกันว่า "ราคาไม่กี่อัฐฬส" ก็หมายถึง "ราคาไม่กี่สตางค์" เท่านั้น.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๑๓ ธันวาคม ๒๕๓๕
Back