Back
อิสรภาพ - เสรีภาพ


เวลาที่ข้าพเจ้าได้รับเชิญไปบรรยายเกี่ยวกับเรื่องภาษาไทยในสถาบัน ต่าง ๆ มีคำอยู่คู่หนึ่งซึ่งมักมีผู้ถามอยู่เป็นประจำว่าต่างกันอย่างไร นั่นคือคำว่า "อิสรภาพ" และ "เสรีภาพ"

คำว่า "อิสรภาพ" พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. ความเป็นใหญ่, ความเป็นไทแก่ตัว; การปกครองตนเอง," ส่วนคำว่า "เสรีภาพ" พจนานุกรมให้บทนิยามไว้สั้น ๆ ว่า "น. ความมีเสรี." เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องย้อนไปดูที่คำว่า "เสรี" พจนานุกรมได้ให้ความหมายไว้อย่างไร มิฉะนั้นเราก็จะไม่ทราบว่า "ความมีเสรี" นั้น เป็นอย่างไร

คำว่า "เสรี" พจนานุกรมได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "ว. ที่ทำได้โดยปลอดอุปสรรค, มีสิทธิที่จะทำจะพูดได้โดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น." และได้บอกไว้ว่า เป็นคำบาลี ตรงกับคำสันสกฤตว่า "ไสฺวรินฺ" (สะไหฺวริน)

นอกจากนั้นเราก็ยังได้ยินคำที่ท่านใช้คู่กับคำว่า "เสรีภาพ" อีกคำหนึ่งก็คือคำว่า "เสรีธรรม" ซึ่งพจนานุกรม ได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น.หลักเสรีภาพ."

หนังสือ "ศัพท์บัญญัติ พร้อมคำอธิบาย จากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕" ซึ่งเป็นเอกสารเผยแพร่เนื่องในวันสถาปนาราชบัณฑิตยสถานครบรอบ ๕๔ ปี ๓๑ มีนาคม ๒๕๓๑ ที่ข้าพเจ้าได้มอบให้นักวรรณศิลป์ สำนักศิลปกรรมเป็นผู้รวบรวม และตีพิมพ์เผยแพร่มา ๓ ครั้งแล้ว เป็นหนังสือ ๑๗,๐๐๐ เล่ม ได้ให้ศัพท์ภาษาอังกฤษไว้ด้วยคือคำว่า "เสรีภาพ" ตรงกับภาษาอังกฤษว่า freedom ส่วนคำว่า "อิสรภาพ" ตรงกับภาษาอังกฤษว่า independence หนังสือ "ศัพท์บัญญัติ" ได้ตกหล่นไป คำว่า "เสรีธรรม" พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงบัญญัติมาจากภาษาอังกฤษว่า liberty

ในเรื่องคำว่า "อิสรภาพ" และ "เสรีภาพ" ได้มีการอภิปรายกันในที่ประชุมกรรมการชำระปทานุกรม ดังที่อาจารย์เจริญ อินทรเกษตร เลขานุการคณะกรรมการชำระปทานุกรมได้บันทึกไว้ดังนี้

"วินิจฉัยคำ อิสรภาพ จะตรงกับคำว่า Liberty และ เสรีภาพ จะตรงกับคำ Freedom หรือไม่.
กรรมการผู้หนึ่งเสนอความหมายของคำ อิสรภาพ และเสรีภาพ ว่า

ก. อิสระ (ป.อิสฺสร; ส.อีศวร) ผู้เป็นใหญ่ (เหนือใคร ๆ ทั้งหมด เช่น พระอิศวร), อิสรภาพ ความเป็นใหญ่, ความมีอำนาจครอบงำผู้อื่น เช่น ความเป็นเจ้าโลก, ความเป็นเจ้าแผ่นดิน, ความเป็นไทแก่ตัว เช่น ทำให้เสื่อมเสีย อิสรภาพ ลักษณะนี้ตรงกับคำ Liberty หรือไม่.

ข. เสรี (ส.ไสฺวริน) ผู้ไปตามปรารถนา, อำเภอใจ (เช่น ในคำ เสรี วาจนาสน์ ของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ว่า ที่นั่งอ่านหนังสือตามอำเภอใจ), เสรีภาพ ความเป็นผู้ทำอะไรได้ตามอำเภอใจ คือ ความมีอำนาจเฉพาะตัวหรืออิสรภาพในตัวเอง ซึ่งจะทำอะไรก็ได้ตามใจสมัคร เช่น "เสรีภาพของทะเล" ก็คือตนจะทำอะไรในทะเลได้ทั้งสิ้นตามวิสัยของการเดินทะเล ลักษณะนี้ตรงกับคำว่า Freedom หรือไม่

ค. สองคำนี้ต่างกัน คือ อิสรภาพ (อิสรภาพความเป็นใหญ่ครอบงำผู้อื่นได้ด้วย) อยู่เหนือเสรีภาพ (ความดำเนินตามอำเภอใจ) ที่ใดมีอิสรภาพมาก เสรีภาพก็น้อยลงตามส่วน เมื่อปล่อยอิสรภาพหมด เสรีภาพก็มีเต็มที่ เปรียบเหมือนแมว(อิสรภาพ) ไม่อยู่, หนู(อิสรภาพ) ระเริง.

ที่ประชุมได้พิจารณาแล้ว ตกลงดังต่อไปนี้ :-
ก. คำอังกฤษว่า Independence หมายถึง ความเป็นใหญ่ทั้งภายในและภายนอก คำไทยควรใช้ว่า เอกราชสำหรับประเทศ (มีใช้แล้วในแจ้งความของคณะราษฎร์) แต่สำหรับบุคคลควรใช้ว่า ความเป็นไท (ไท ไม่มี ย ตาม)

ข. คำอังกฤษว่า Liberty หมายถึง ความเป็นใหญ่ภายใน แต่มิได้เป็นใหญ่ภายนอก ควรใช้ว่า อิสรภาพ ดังตัวอย่างที่ใช้กันอยู่แล้ว เช่น กรมอิสระ

ค. คำอังกฤษว่า Liberty หมายถึง ความปลอดจากอุปสรรค, เมื่อพูดถึงการเมืองย่อมหมายถึง สิทธิที่อาจจะทำได้ ถ้าเป็นคุณศัพท์ อังกฤษใช้ว่า Free ถ้าเป็นคำนาม อังกฤษมีสองรูป คือ Freedom กับ Liberty.

Liberty อังกฤษใช้ทั่วไปถึง ความปลอดจากอุปสรรคใด ๆ ก็ได้ หรือปลอดจากอำนาจของบุคคลก็ได้ แต่ฝรั่งเศสใช้คำเดียวว่า Liberte (ลิแบร์เต)

เพราะฉะนั้นคำว่า อิสรภาพ จึงตรงกับคำ Autonomy ไม่ใช่ Liberty และเสรีภาพ ตรงกับคำว่า Freedom หรือ Liberty โดยอธิบายมาแล้วข้างต้น."

ในหนังสือ "ศัพท์สนธิสัญญาและการเมือง" ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร ได้อธิบายคำว่า "เสรีภาพ" ไว้ดังนี้

"สิทธิจะทำอะไรได้โดยปลอดอุปสรรค คือ เสรีภาพ

อังกฤษมี ๒ คำ คือ Freedom กับ Liberty. Freedom หมายถึง ความปลอดอุปสรรค Liberty หมายถึง สิทธิที่จะทำอะไรได้โดยปลอดอุปสรรค. ฉะนั้นอังกฤษจึงได้พูดว่า Liberty freely to come with their ships โดยความไม่ขัดหรือซ้ำกัน แต่เป็นการย้ำความให้แน่ชัดในภาษาไทย จึงได้แปลไว้ว่ามีเสรีภาพที่จะมาโดยปลอดอุปสรรคกับเรือ.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๒๐ มกราคม๒๕๓๕
Back