Back

อุบัติเหตุ - อุปัทวเหตุ

ข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันพุธที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ ในบัญชรหรือคอลัมน์ "ซอยสวนพลู" ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านได้กล่าวถึงข่าวที่น่าสยดสยองจากต่างประเทศ คือข่าวเครื่องบินของอิสราเอลตก โดยเครื่องบินดังกล่าวเป็นเครื่องบินบรรทุกสินค้า ไม่มีผู้โดยสาร ได้บินชนตึกที่มีคนอาศัยอยู่เป็นแฟลต ๒ หลัง แต่ละหลังสูง ๑๐ ชั้น ทำให้ตึกทั้ง ๒ หลังนั้นระเบิดเป็นไฟลุกท่วมตึกทั้ง ๒ หลังนั้น มีคนเสียชีวิตในแฟลตเห็นจะประมาณ ๒๕๐ คน ตามข่าวหรือคำแถลงของรัฐบาลแห่งเมืองที่เกิดเหตุนั้น ปรากฏว่าแฟลตถึง ๘๐ จุดเกิดเพลิงลุกไหม้อย่างรุนแรง แต่ผู้เขียนมิได้บอกว่าที่เมืองอะไร ประเทศไหน จนกระทั่งในตอนท้าย ท่านจึงได้เขียนบอกไว้ว่า

"อุปัทวเหตุ ครั้งนี้เกิดขึ้นจากการพัฒนาโดยแท้, เพราะในฮอลันดานั้นมีตึกระฟ้าหรือตึกสูง ๆ ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์อยู่มากมาย การสร้างสนามบินก็สร้างลงไปในระหว่างตึกสูง ๆ เหล่านั้น เมื่อมีเครื่องบินจะขึ้นหรือลงแล้วเกิด อุปัทวเหตุก็ไม่มีทางหลีกเลี่ยงที่จะพุ่งเข้าชนตึกสูงที่อยู่รายรอบนั้นได้ และเมื่อชนเข้าแล้ว คนที่ตายก็จะต้องเป็นคนที่อาศัยอยู่บนตึกเหล่านั้นเอง ไม่ว่าเครื่องบินนั้นจะมีผู้โดยสารหรือไม่"

เมื่อข้าพเจ้าได้อ่านบทความนี้แล้วก็ดีใจที่ท่านอาจารย์หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านใช้ข้อความว่า "คนที่เสียชีวิตไปในแฟลตเห็นจะมีประมาณ ๒๕๐ คน" ท่านไม่ใช้ "๒๕๐ ศพ" ดังที่หนังสือพิมพ์บางฉบับเช่น ไทยรัฐ และแม้แต่สยามรัฐเองกำลังนิยมใช้ลักษณนามผิด ๆ กันอยู่ ถ้าเราเขียนว่า "คนตาย" ก็ต้องบอกว่า "กี่คน" แต่ถ้าบอกว่า "แล้วเจ้าหน้าที่นำศพทั้ง ๒๕๐ ศพนั้นไปตั้งบำเพ็ญกุศล" อย่างนี้จึงจะใช้ลักษณนามว่า "ศพ" ทหารตายในสงครามก็ต้องบอกว่า "กี่คน" ไม่ใช่ "กี่ศพ" ถ้าเป็นสุนัขตายก็ต้องบอกว่า "กี่ตัว" แต่ที่ท่านอาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช บอกว่า "เพราะในฮอลันดานั้น" จึงทำให้ทราบว่ากรณีเครื่องบินชนตึกนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดในประเทศฮอลแลนด์ หรือปัจจุบันเรียกว่า เนเธอร์แลนด์ คำว่า "ฮอลันดา" นิยมใช้เรียกคนหรือภาษา เป็นต้น ในสมัยก่อน, เช่น ชาวฮอลันดา ภาษาฮอลันดา เรือรบฮอลันดา ฯลฯ ไม่นิยมเรียก "ประเทศฮอลันดา" ในปัจจุบันชื่อเป็นทางการคือ "เนเธอร์แลนด์" ถ้าเป็นประชาชนหรือภาษาก็ใช้คำว่า "ดัตช์ เช่น ชาวดัตช์ ภาษาดัตช์ ฯลฯ

คำที่ผมติดใจอยู่คำหนึ่งที่ท่านอาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ใช้ในบทความนี้ซึ่งมีอยู่ ๔๒ แห่ง นั่นคือคำว่า "อุปัทวเหตุ" (อุ - บัด - ทะ - วะ - เหด) ซึ่งในปัจจุบันเรานิยมใช้คำว่า "อุบัติเหตุ" (อุ - บัด - ติ - เหด) แต่คน เก่า ๆ นิยมใช้ว่า "อุปัทวเหตุ" ข้าพเจ้าเองในสมัยก่อน ๆ ก็เคยใช้อยู่เหมือนกัน แต่ในปัจจุบันใช้ "อุบัติเหตุ" ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ซึ่งพจนานุกรมได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. เหตุที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด, ความบังเอิญเป็น." คำนี้เป็นศัพท์บัญญัติแทนคำภาษาอังกฤษว่า accident ซึ่ง ราชบัณฑิตยสถานได้บัญญัติศัพท์คำว่า accident ไว้ ๒ อย่าง คือ "อุบัติการณ์, อุบัติเหตุ, ส่วนคำว่า incident ท่านบัญญัติศัพท์ไว้ว่า "เหตุอุปบัติ" (อุ - ปะ - บัด)

ส่วนคำว่า "อุปัทวเหตุ" (อุ - ปัด - ทะ - วะ - เหด) เป็นคำที่ประกอบด้วยคำบาลี ๒ คำ คือ "อุปัทว" กับ "เหตุ" คำว่า "อุปัทวะ" พจนานุกรมได้ให้ความหมายไว้ว่า "ว. อัปรีย์, จัญไร, อันตราย." บางทีเราก็ใช้เข้าสนธิกับคำว่า "อันตราย" เป็น "อุปัทวันตราย" คือ อุบาทว์และอันตราย" ดังที่เรานิยมใช้ในการให้ศีลให้พรตอนหนึ่งว่า "ขอให้แคล้วคลาดจากอุปสรรคอุปัทวันตรายทั้งมวลเทอญ" การที่เครื่องบินพุ่งชนตึกนั้น มิใช่โดยเจตนา แต่เป็นเหตุบังเอิญ จึงควรจะใช้คำว่า "อุบัติเหตุ" แต่ถ้าจะถือว่าการที่เครื่องบินพุ่งเข้าชนตึก ทำให้มีคนตายมากมาย นับว่าเป็น "เหตุอัปรีย์จัญไร" ก็พอจะใช้ว่า "อุปัทวเหตุ" ได้ อย่างไรก็ตาม "อุปัทวเหตุ" จะเอาไปใช้แทน "อุบัติเหตุ" เสมอไปไม่ได้ อย่าง "เหี้ยคลานยั้วเยี้ยอยู่ที่รัฐสภา" อย่างนี้ไม่ใช่ "อุบัติเหตุ" แต่พอถือว่าเป็น "อุปัทวเหตุ" คือ "เหตุอุบาทว์" ได้ เพราะคนไทย เราถือว่าเหี้ยขึ้นบ้านใครแล้วเป็นอัปรีย์จัญไรทั้งสิ้น.


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๙ ตุลาคม๒๕๓๕
Back