Back
เข้า - ข้าว


ท่านผู้ฟังที่เคยสังเกตคำในป้ายโฆษณาประเภทภาพยนตร์หรือโฆษณาสินค้าประเภทต่าง ๆ จะพบว่าคำที่มีความหมายในลักษณะว่า "ผู้เป็นใหญ่" หรือ "สิ่งที่ยิ่งใหญ่" ที่ตามปรกติเราใช้คำว่า "เจ้า" เช่น เจ้าแห่งความเร็ว เจ้าป่า เจ้าเขา ฯลฯ นั้น มักมีผู้เขียนเป็น "จ้าว" อยู่เสมอ เช่น จ้าวป่า จ้าวเขา จ้าวแห่งความเร็ว ฯลฯ ในเรื่องนี้ข้าพเจ้าได้เคยถามท่านอาจารย์เจริญ อินทรเกษตร อดีตเลขาธิการราชบัณฑิตยสถานว่า ทำไมพจนานุกรมจึงให้เขียนเป็น "เจ้า" เหมือนกันหมด ไม่ว่าจะใช้เป็นคำนามหรือสรรพนามก็ตาม ข้าพเจ้าเห็นว่าน่าจะเก็บเป็น "เจ้า" กับ "จ้าว" คือถ้าเป็นคำสรรพนามใช้ว่า "เจ้า" ถ้าเป็นคำนามใช้ว่า "จ้าว" ทำนองเดียวกับคำว่า "เข้า" ซึ่งเป็นกริยา กับ "ข้าว" ซึ่งเป็นคำนามฉะนั้น ท่านได้ปรารภว่า เรื่องนี้ได้มีการอภิปรายกันในที่ประชุมคณะกรรมการชำระปทานุกรมแล้วเหมือนกัน ดังที่ท่านได้บันทึกไว้ และได้ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือ "ความรู้ทางอักษรศาสตร์" ที่ราชบัณฑิตยสถานได้รวบรวมตีพิมพ์เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ ดังข้าพเจ้าจะได้นำคำอภิปรายนั้นมาเสนอท่านผู้ฟังดังนี้

"ที่ประชุมฝ่ายหนึ่งเห็นว่า
ก. เข้า ทั้งนี้เป็นนามและกริยา ย่อมมีที่ใช้รวมกัน เช่น ภาษีเข้าเป็นต้น ทั้งนี้เมื่อเราเห็นแต่ตัวหนังสือแล้ว ย่อมจะตีความได้ถึงสองทาง ควรจำแนกดังนี้ เข้า (กริยา) และ ข้าว (นาม) ทางราชการก็เคยเปลี่ยน เข้า เป็น ข้าว เมื่อออกประกาศเรื่องการกำกับ ข้า ครั้งรัชกาลที่ ๖

ข. เข้า ที่เป็นนามนั้น แต่เดิมเราใช้เขียนว่า ฃ้าว (ฃ ขวด) เพื่อจะให้เห็นแตกต่างกับคำ เข้า ซึ่งเป็นกริยา แต่บัดนี้ไม่มีการใช้ ฃ (ฃ ขวด) ฉะนั้น ถ้าเขียนเป็น ข้าว จะดีกว่า

"อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า ควรเขียน เข้า ทั้งที่เป็นนามและกริยา ตามแบบปทานุกรมเพราะทั้งสองคำนี้ย่อมแตกต่างกันโดยการออกเสียงอยู่แล้วในตัว คือเข้าที่เป็นกริยาออกเสียงสั้น ที่เป็นนามออกเสียงยาว อีกประการหนึ่ง ถ้าสังเกตความตามรูปประโยค ก็อาจรู้ได้ทันทีว่าไหนเป็นนามไหนเป็นกริยาเช่น ในประโยคว่า วันนี้ฉันไม่ฉันเข้า เป็นต้น

"ที่ประชุมลงมติให้เขียน เข้า ที่เป็นนามว่า ข้าว

"ต่อมามีผู้แสดงความเห็นว่า แต่ไหนแต่ไรมา ในหนังสือทุกสมัย เริ่มต้นแต่ศิลาจารึกขุนรามคำแหงมาจนกลางรัชกาลที่ ๖ เขียนว่า เข้า ทั้งนั้น นอกจากนายกุหลาบ ผู้มีชื่อเสียงในการที่คนสมัยเก่าไม่นิยม การที่เปลี่ยนเป็น ข้าว เพื่อให้ตรงสำเนียงที่พูดกัน และให้ชัดว่าไม่ใช่กริยานั้น ใครแน่ใจได้บ้างว่านไทยนอกจากกรุงเทพฯ และมณฑลชั้นในบางแห่ง เขาพูดลากเสียงยาวเช่นนั้น พวกมณฑลพายัพพูดว่า เข้า (เสียงสั้น) นั้นเป็นแน่ และอีกประการหนึ่ง คำที่ใช้กันชินแล้ว จะมาดัดแปลงเพราะสำเนียงของประชาชนบางท้องถิ่นนั้น คิดว่าไม่ชอบด้วยหลักการ แม้ภาษาที่พินิจพิเคราะห์แก้ไขให้ถูกต้องต่างกันอยู่เสมอ เช่น อังกฤษก็ไม่ถือหลักนี้ หาไม่คงจะต้องเปลี่ยน through เป็น thru หรือ Worcester เป็น Wooster และ Cirencester เป็น Cisister ส่วนที่จะบัญญัติตัวสะกดให้เห็นชัดว่าไม่ใช่กริยานั้น เป็นวิธีอันปราศจากเหตุผล ไม่ชอบด้วยหลักแห่ง Philology ควรจะเทียบคำว่า Desert (นาม, ทะเลทราย) และ Desert (กริยา, ละทิ้ง) ซึ่งออกเสียงต่างกัน แต่มิได้เขียนให้ผิดกันแต่อย่างใด

"การวินิจฉัยตัวสะกดนั้น ควรจะมีหลัก เพราะโดยปรกติที่จะวินิจฉัยภาษากันย่อมถือเอาลักษณะที่เขาใช้ภาษานั้นเป็นหลัก การที่จะสังเกตลักษณะดังว่านี้ ก็ย่อมถือหลักหนังสือที่ดีพอจะเอาเป็นเยี่ยงอย่างได้ ขอยกตัวอย่างคำว่า "ข้าว" ซึ่งนอกจากจะมีหลักฐานใช้ "เข้า" มาตั้งแต่ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงแล้ว ยังควรอ้างวรรณคดีภาษาไทยและหนังสือราชการ พระราชกำหนดกฎหมายทั้งปวงเป็นพยานไว้ด้วย มียกเว้นแต่เฉพาะเวลาอันสั้นในท่อนหลังรัชกาลที่ ๖ ซึ่งหนังสือราชการใช้ว่า "ข้าว" โดยเหตุผลซึ่งข้าพเจ้าบังเอิญได้ทราบ และรวบยอดได้ว่าเป็นการวินิจฉัยอย่าง arbitrary เพราะถือหลักที่เข้าใจกันในครั้งนั้นว่าเป็น phonetic ซึ่งมาพิสูจน์ได้ภายหลังว่า ไม่ใช่เหตุผลที่ดีพอด้วยซ้ำ ตามเหตุผลที่อ้างในการตัดสินให้เป็น "ข้าว" ไม่ปรากฏหลักเกณฑ์ อันใดในการตัดสิน นอกจากที่ให้เห็นว่าเป็นนามหรือกริยา ถ้ามีเหตุผลเพียงเท่านี้ก็รู้สึกว่าเป็นการวินิจฉัยอย่าง arbitrary ที่สุด ปราศจากหลักเกณฑ์ที่ชอบด้วยวิทยาศาสตร์แห่งภาษา

"ที่ประชุมได้พิจารณาแล้วเห็นรวมกันว่า การวินิจฉัยวิธีสะกดด้วยอักษรนั้นว่า เฉพาะคำว่า เข้ากรรมการส่วนมาก ลงความเห็นไปโดย Popular sentiment และเห็นว่าคำ สินค้าเข้า ถ้าเขียนแล้วไม่ทราบว่า ข้าว หรือ เข้า ความยิ่งยากมีเช่นนี้ จึงตกลงให้ใช้เป็น ข้าว"

ข้าพเจ้าได้ทราบจากอาจารย์เจริญ อินทรเกษตร ในเรื่องเกี่ยวกับคำว่า "เข้า - ข้าว" และ "เจ้า - จ้าว" มาว่า เรื่องการเขียนคำว่า "เจ้า" และ "จ้าว" นั้นมีเจ้านายพระองค์หนึ่งทรงเห็นว่าควรเขียนเป็น ๒ รูป เช่นเดียวกับคำว่า "เข้า" และ "ข้าว" แต่ที่ประชุมไม่เห็นด้วย เจ้านายพระองค์นั้นก็เลยไม่เสด็จมาร่วมประชุมจนสิ้นพระชนม์

คำว่า "ข้าว" นั้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ - ๕ ยังเขียนเป็น "เข้า" อยู่ เข้าใจว่ามาแยกเขียนเป็น "เข้า" ในสมัยรัชกาลที่ ๖ นี้เอง พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ จึงได้เก็บคำว่า "เข้า ๒" ไว้ และบอกว่าเป็นคำโบราณ หมายความว่า "ข้าว; ขวบปี" ส่วนที่เป็นชื่อไม้ล้มลุก ในวงศ์ Gramineae (แกรมินีอี) เมล็ดใช้เป็นอาหารนั้น เขียนว่า "ข้าว"

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๒๗มกราคม๒๕๓๕
Back