Back

เครื่องต้น - เครื่องทรง

ปัญหาที่ผู้รู้ท่านถกเถียงกันอยู่ปัญหาหนึ่งคือคำว่า "เครื่องต้น" กับ "เครื่องทรง" ว่าทั้ง ๒ คำนี้มีความหมายเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร บางทีเราก็ได้ยินท่านใช้ควบกันเป็น "เครื่องต้นเครื่องทรง" ก็มี

พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ เก็บไว้แต่ "เครื่องต้น" ส่วน "เครื่องทรง" ยังมิได้เก็บไว้ โดยท่านให้บทนิยามของคำว่า "เครื่องต้น" ไว้ดังนี้ "น. เครื่องทรงสำหรับกษัตริย์, ของใช้ของเสวยสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน." ที่นับว่าแปลกก็คือ บทนิยามของคำว่า "เครื่องต้น" ท่านบอกว่าหมายถึง "เครื่องทรงสำหรับกษัตริย์" ถ้าพิจารณาตามหลักการนิยามความหมายทางตรรกศาสตร์แล้ว "เครื่องทรง" จะต้องมีความหมายกว้างกว่า "เครื่องต้น" เพราะ "เครื่องต้น" เป็นเครื่องทรงชนิดหนึ่งคือ "สำหรับกษัตริย์" เท่านั้น

ต่อมาเมื่อข้าพเจ้าได้อ่าน "สาส์นสมเด็จ ฉบับที่ยังไม่เคยพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๗๕" ซึ่งตีพิมพ์เป็นที่ระลึกในงานสมโภชหิรัณยบัฏพัดยศ พระวิสุทธาธิบดี (วีระ ภทฺทจารี ป.ธ. ๙) วัดสุทัศนเทพวราราม เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๖ ก็ได้พบหนังสือที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีไปถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ฉบับหนึ่งลงวันที่ ๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๗๕ มีข้อความดังนี้

"ทูล สมเด็จ กรมพระนริศรฯ

หญิงมารยาตร (คือ ม.จ. มารยาตรกัญญา ดิศกุล) ออกมาถึงหัวหินเมื่อวันที่ ๒ มกราคม เชิญลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๑ มาส่งหม่อมฉันฉะบับ ๑ ขอทูลสนองความ ๒ ข้อ ซึ่งทรงปรารภมาในลายพระหัตถ์ตามพระประสงค์ ดัง ต่อไปนี้

๑. คำจารึกพระพุทธรูปที่ตั้ง ณ ศาลาการเปรียญ วัดราชาธิวาสนั้น หม่อมฉันเห็นว่าควรจะจารึกดังนี้

"พระพุทธรูปโบราณองค์นี้ เดิมทอดทิ้งอยู่ที่วัดร้างในเมืองเชียงแสน เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเลียบมณฑลพายัพ ใน พ.ศ. ๒๔๗๐ ตรัสสั่งให้เชิญลงมาปฏิสังขรณ์ให้คืนดีโดยพระราชศรัทธา แล้วโปรดฯ ให้ประดิษฐานเป็นพระประธานในศาลาการเปรียญ ซึ่งสมเด็จพระบรมชนกนาถได้ทรงสร้างไว้ ณ วัดราชาธิวาศราชวรวิหาร

๒. เรื่องเครื่องต้นเครื่องทรงของขุนหลวงตากนั้น มีหลักฐานสำหรับจะวินิจฉัยอยู่ที่ "ตำราเครื่องต้นเครื่องทรง" ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานฉะบับใบลานของเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด) ไว้ในหอพระสมุดสำหรับพระนคร (ตำรานั้นได้พิมพ์แล้ว) เปนตำราในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตอนปลาย เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด) หรือผู้อื่น คงจะได้เขียนขึ้นถวาย หรือได้ฉะบับเดิมมาแต่ครั้งกรุงธนบุรีและคงใช้เป็นตำราในกรมภูษามาลาแต่ในสมัยนั้น

"วินิจฉัยต่อไปว่า ขุนหลวงตากจะใช้เครื่องต้นเครื่องทรงอย่างไรตามตำรานั้นบ้าง เห็นว่าเอาเป็นข้อยุติได้ข้อ ๑ ว่า เครื่องต้นเครื่องทรงทำด้วยมหัครภัณฑ์ เช่น พระมหามงกุฎ เครื่องราชกกุธภัณฑ์หามีไม่ เพราะของครั้งกรุงศรีอยุธยาสูญ และมีหลักฐานในจดหมายเหตุแน่นอนว่าพึ่งมาสร้างขึ้นในครั้งรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ เพราะฉะนั้นเครื่องทรงของขุนหลวงตากน่าจะมีแต่ส่วนภูษามาลา แต่คงพยายามทำตามแบบครั้งกรุงศรีอยุธยา ให้คล้ายคลึงกับของเดิมที่สุดที่จะเป็นได้

"แต่เมื่อคิดดูถึงที่พระเจ้าแผ่นดินแต่งพระองค์ตามที่น่าจะเป็นจริงนั้น คำว่า "เครื่องต้น" กับคำว่า "เครื่องทรง" น่าจะหมายความต่างกัน เครื่องต้น หมายความว่า เครื่องแต่งพระองค์และเครื่องราชูปโภคอันเป็นเครื่องหมาย พระเกียรติยศของพระเจ้าแผ่นดิน เช่น พระมหามงกุฎ เป็นต้นล้วนเป็นของวิเศษ เครื่องทรง นั้นหมายความว่า เครื่องแต่งพระองค์โดยปรกติตามสบาย เครื่องต้นนาน ๆ ใช้ ต่อเมื่อมีพิธีรีตองที่จะอวดพระเกียรติยศ เครื่องทรงใช้ตามสดวกแก่การต่าง ๆ อันมีเป็นนิตย์ ยกตัวอย่างเครื่องทรงเวลาเสด็จออกว่าราชการ โดยปกติทรงพระภูษาจีบ คาดแพร ทรงสะพักเท่านั้นเอง ฉลองพระองค์ก็ไม่ทรง ถ้าเสด็จออกแขกเมืองอย่างครึ่งยศ ก็ทรงฉลองพระองค์เช่น เข้มขาบหรือเยียรบับ เพิ่มขึ้นอีกองค์ ๑ เครื่องศิราภรณ์ หม่อมฉันเข้าใจว่าพึ่งทรงเสด็จออกแขกเมืองเมื่อรัชกาลที่ ๔ ด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

"คราวนี้จะวินิจฉัยถึงเครื่องทรงเวลาเสด็จไปยังที่ต่าง ๆ ตลอดจนเสด็จไปการศึกสงครามตามที่ปรากฏในครั้งรัชกาลที่ ๓ และก่อนนั้นขึ้นไป เมื่อเสด็จออกนอกพระราชนิเวศน์ ก็มิได้ทรงเครื่องแปลกกว่าที่พรรณนามาแล้ว แต่สันนิษฐานว่าเวลาเสด็จในการสงคราม เห็นจะทรงเครื่องให้กระชับพระองค์เหมาะแก่กาละยิ่งกว่าเสด็จประพาสในกรุง อาจจะทรงสนับเพลาและฉลองพระองค์คาดราดคตและทรงพระมาลา แต่เครื่องทรงเวลาเสด็จออกทางไกลเช่นนี้ ก็คงอาศัยความสดวกและสบายเป็นประมาณ ถ้าจะเทียบด้วยยุนิฟอร์ม ทหาร หลักของยุนิฟอร์มทหารไทยก็นุ่งกางเกงเครื่องแต่งใส่เสื้ออย่างน้อย คาดผ้าโพกหัย ถ้าเป็นขั้นมูลนายก็ใส่หมวก ผิดกันแต่เนื้อผ้าและสีที่ทำเครื่องแต่งตัว ไพร่ใส่ผ้าเขียวครามหรือผ้าแดง มูลนายก็เป็นผ้าที่มีดอกและมีทองปน ถ้าหากเป็นไพร่พลที่เกณฑ์จากหัวเมือง ก็แต่งเครื่องเดินป่าของราษฎรนั่นเอง หม่อมฉันคิดเห็นดังนี้


ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
ดำรงราชานุภาพ"

ท่านผู้ฟังคงพอกำหนดได้แล้วว่า "เครื่องต้น" หมายถึง "ทั้งเครื่องแต่งพระองค์และเครื่องราชูปโภค" ส่วน "เครื่องทรง" นั้น หมายถึงเหมาะ "เครื่องแต่งพระองค์" เท่านั้น.


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖
Back