Back
เจ้าสำนัก - โรงแรม - โฮเต็ล


ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นกรรมการทำพจนานุกรมศัพท์กฎหมายไทยของราชบัณฑิตยสถานคนหนึ่ง รู้สึกว่าคำบางคำในกฎหมาย ทำให้สับสนอยู่มาก เหมือนกัน อย่างคำว่า "โรงแรม" กับ "โฮเต็ล" มีความหมายต่างกันอย่างไร เช่น ใน "ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์" บรรพ ๓ เอกเทศสัญญา ลักษณะ ๑๐ ฝากทรัพย์ หมวด ๓ ที่ว่าด้วย "วิธีเฉพาะสำหรับเจ้าสำนักโรงแรม"

พอกล่าวถึง "เจ้าสำนัก" ในความรู้สึกของคนทั่วไปในปัจจุบัน เรามักเข้าใจว่าหมายถึง "เจ้าสำนักนางโลม" หรือ "หัวหน้าซ่องโสเภณี" เสียเป็นส่วนใหญ่ ทั้ง ๆ ที่คำว่า "สำนัก" คำเดียว เรามักจะหมายไปในทางที่ดี อย่างสำนักการศึกษา เช่น เราอาจถามว่า "คุณอยู่สำนักไหน?" "คุณเรียนมาจากสำนักไหน?" พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายของคำว่า "สำนัก" ไว้ดังนี้ "น. ที่อยู่อาศัย, ที่ทำการเช่น สำนักนายกรัฐมนตรี, แหล่งศึกษาอบรม เช่น สำนักวิปัสสนา. ก. อยู่ เช่น เวลานี้สำนักที่ไหน." ที่คำว่า "เจ้า" พจนานุกรม ก็มิได้เก็บคำว่า "เจ้าสำนัก" เป็นลูกคำไว้เสียด้วย แต่ถ้าใครจะมาบอกว่า สำนักนายกรัฐมนตรี มีนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าสำนักเห็นจะไม่ถูกต้อง แต่ใน "ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์" ก็มิได้บอกว่า "เจ้าสำนักโรงแรม" นั้นหมายถึง "เจ้าของ" หรือ "ผู้จัดการโรงแรม" ดังที่ปรากฏอยู่ในมาตรา ๖๗๔ ถึงมาตรา ๖๗๙ ข้าพเจ้าขอยกข้อความบางมาตรามาเสนอประกอบดังนี้

"มาตรา ๖๗๔ เจ้าสำนักโรงแรมหรือโฮเต็ล หรือสถานที่อื่นทำนองเช่นว่านั้น จะต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใด ๆ อันเกิดแก่ทรัพย์สิน ซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัยหากได้พามา

"มาตรา ๖๗๕ เจ้าสำนักต้องรับผิด ในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหายหรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก ณ โรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้น ก็คงต้องรับผิด

"ความรับผิดนี้ ถ้าเกี่ยวด้วยเงินทองตรา ธนบัตร ตั๋วเงิน พันธบัตร ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ประทวนสินค้า อัญมณี หรือของมีค่าอื่น ๆ ไซร้ ท่านจำกัดไว้เพียงห้าร้อยบาท เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสำนัก และได้บอกราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง

"แต่เจ้าสำนักไม่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือแต่สภาพแห่งทรัพย์สินนั้น หรือแต่ความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเอง หรือบริวารของเขาหรือบุคคลซึ่งเขาได้ต้อนรับ"

และในมาตรา ๖๗๙ มีข้อความดังนี้

มาตรา ๖๗๙ เจ้าสำนักชอบที่จะยึดหน่วงเครื่องเดินทางหรือทรัพย์สินอย่างอื่นของคนเดินทาง หรือแขกอาศัยอันเอาไว้ในโรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นได้จนกว่าจะได้รับใช้เงินบรรดาที่ค้างชำระแก่ตน เพื่อการพักอาศัยและการอื่น ๆ อันได้ทำให้แก่คนเดินทางหรือแขกอาศัยตามที่เขาพึงต้องการนั้น รวมทั้งการชดใช้เงินทั้งหลายที่ได้ออกแทนไปด้วย

"เจ้าสำนักจะเอาทรัพย์สินที่ได้ยึดหน่วงไว้เช่นว่านั้น ออกขายทอดตลาด แล้วหักเอาเงินใช้จำนวนที่ค้างชำระแก่ตน รวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการขายทอดตลาดนั้น จากเงินที่ขายทรัพย์สินนั้นก็ได้ แต่ท่านมิให้เจ้าสำนักใช้สิทธิดังว่านี้ จนเมื่อ

(๑) ทรัพย์สินนั้นตกอยู่แก่ตนเป็นเวลานานถึงหกสัปดาหะยังมิได้ชำระหนี้สิน และ

(๒) อย่างน้อยเดือนหนึ่งก่อนวันขายทอดตลาด ตนได้ประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์ประจำท้องถิ่นฉบับหนึ่งแจ้งความจำนงที่จะขายทรัพย์สิน บอกลักษณะแห่งทรัพย์สินที่จะขายโดยย่อ กับถ้ารู้ชื่อเจ้าของ ก็บอกด้วย

"เมื่อขายทอดตลาดหักใช้หนี้ดั่งกล่าวแล้ว มีเงินเหลืออยู่เท่าใด ต้องคืนให้แก่เจ้าของหรือฝากไว้ ณ สำนักงานฝากทรัพย์ตามบทบัญญัติในมาตรา ๓๓๑ และ ๓๓๓"

ที่ข้าพเจ้าได้ยกข้อความในหลายมาตรามาประกอบนี้ ก็เพื่ออ้างถึงคำที่เป็นปัญหาในมาตราต่าง ๆ ดังกล่าว คือคำว่า "โรงแรม" กับ "โฮเต็ล" ต่างกันอย่างไร เพราะพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายของคำว่า "โรงแรม" และ "โฮเต็ล" ไว้ดังนี้

"โรงแรม น. ที่พักคนเดินทาง."
"โฮเต็ล (ปาก) น. โรงแรม, ที่พักคนเดินทาง. (อ. hotel)."

แต่เมื่อดู "ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์" ภาคภาษาอังกฤษแล้ว จึงทราบว่า คำว่า "โรงแรม" ภาษาอังกฤษใช้ว่า "inn" ซึ่งโดยทั่วไป เราเคยแปลกันว่า "โรงเตี๊ยม" ซึ่งมักเข้าใจกันว่ามีขนาดเล็กกว่า "โฮเต็ล" ในเมื่อปัจจุบันเราแปล hotel ว่า "โรงแรม" แล้ว ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็น่าจะตัดคำว่า "โฮเต็ล" ออก ส่วนสถานที่อื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันเช่น motel (โมเต็ล) หรือ resort (รีสอร์ต) ต่าง ๆ เป็นต้น ก็คงไม่มีปัญหา คือรวมอยู่ในคำว่า "สถานที่อื่นทำนองเช่นว่านั้น" (ม.๖๗๔) หรือ "สถานที่เช่นนั้น" (ม.๖๗๕, ๖๗๖, ๖๗๙) หรือ "สถานที่อื่นทำนองเช่นว่านี้" (ม.๖๗๗) ได้ ซึ่งภาษาอังกฤษใช้ว่า "other such place" แต่ฉบับภาษาไทยใช้ข้อความต่างกันถึง ๓ แบบดังกล่าวแล้ว ทั้ง ๆ ที่มาตราเรียงกัน ก็น่าจะใช้ให้เหมือนกันได้ แต่ท่านก็ไม่ใช้ แสดงว่าในการเขียนกฎหมายหรือแปลกฎหมายนั้น สมาธิคงไม่ค่อยดี จึงขาดเอกภาพในการใช้คำอยู่มาก.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๒๒ พฤษภาคม๒๕๓๕
Back