Back

เฉลิมพระชนมพรรษา - เฉลิมพระชนมายุ

เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๓๕ ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาที่ยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ เพราะเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา ในมหาวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ นับว่าเป็นการเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่จริง ๆ ทั้งนี้เพราะประชาชนชาวไทยทั้งประเทศได้ร่วมใจกันจัดงานเฉลิมฉลอง อย่างสมพระเกียรติด้วยความจงรักภักดีอย่างสุดที่จะพรรณนาเพราะประชาชนทุกคนในผืนแผ่นดินไทยและแม้แต่ในต่างแดนต่างก็ทราบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยทั้งมวล

ข้าพเจ้าได้ยินเจ้าหน้าที่ทั้งทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีโทรทัศน์หลายแห่งมักใช้คำว่า "เฉลิมพระชนมายุ ๖๐ พรรษา" อยู่บ่อย ๆ ทั้งนี้คงจะคิดว่า ถ้าใช้ว่า "เฉลิมพระชนมพรรษา ๖๐ พรรษา" จะมีคำว่า "พรรษา" อยู่ใกล้กัน ๒ คำกระมัง จึงได้เปลี่ยนคำหน้าเป็น "เฉลิมพระชนมายุ" เอาตามใจชอบ หรือด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ได้

คำว่า "เฉลิมพระชนมายุ" กับ "เฉลิมพระชนมพรรษา" มีที่ใช้ต่างกันอย่างไรนั้น สำนักพระราชวัง ได้ทำหนังสือ "รวมเรื่องและข้อบังคับเกี่ยวกับราชสำนัก" ไว้เล่มหนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘ ในหัวเรื่องว่า "๓. คำนามและกิริยาที่มีความหมายอย่างเดียวกัน แต่ใช้ราชาศัพท์ต่างกันตามพระอิสริยศักดิ์หรือตามสภาพของภาวการณ์และสถานที่" ไว้ตอนหนึ่ง ดังนี้

คำสามัญว่า "เกิด" ถ้าใช้สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระยุพราช สมเด็จพระบรมราชกุมารี ใช้ว่า "เสด็จพระราชสมภพ" ต่อมาได้พบอยู่บ่อย ๆ ว่า ถ้าใช้สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ใช้ว่า "เสด็จพระบรมราชสมภพ" ข้าพเจ้าไม่ทราบว่า ใช้กันเองหรือว่าทางสำนักพระราชวังได้ปรับปรุงแก้ไขใหม่ แต่ข้าพเจ้าก็เห็นด้วย เพื่อให้รับกับ "วันเกิด" ซึ่งใช้คำราชาศัพท์ว่า "วันพระบรมราชสมภพ" อยู่แล้ว ถ้าหากเป็นพระราชวงศ์ทั่วไป ให้ใช้ว่า "สมภพ" หรือ "ประสูติ"

คำว่า "วันเกิด" ถ้าใช้สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใช้ว่า "วันพระบรมราชสมภพ" แต่ถ้าหากใช้สำหรับสมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระยุพราช สมเด็จพระบรมราชกุมารี ใช้ว่า "วันพระราชสมภพ" และถ้าใช้สำหรับพระราชวงศ์ทั่วไป ใช้ว่า "วันประสูติ"

ถ้าหากเป็นเรื่อง "งานบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันเกิด" สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ใช้ราชาศัพท์ว่า "วันเฉลิมพระชนมพรรษา" ถ้าสำหรับสมเด็จพระบรมราชินี (ไม่ใช่พระบรมราชินีนาถ) สมเด็จพระบรมราชชนนี และสมเด็จพระยุพราช ใช้ราชาศัพท์ว่า "บำเพ็ญพระราชกุศลเฉลิมพระชนมพรรษา" หรือ "บำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระชนมายุ" ก็ได้ ถ้าสำหรับสมเด็จพระบรมราชกุมารี ใช้ราชาศัพท์ว่า "บำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระชนมายุ" เพียงอย่างเดียว และถ้าสำหรับพระราชวงศ์ทั่ว ๆ ไป ใช้ราชาศัพท์ว่า "บำเพ็ญพระกุศลวันประสูติ"

ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับ "อายุ...ปี" คือมีอายุกี่ปีแล้ว สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถใช้ราชาศัพท์ว่า "พระชนมพรรษา" และลงท้ายว่า "พรรษา" เช่น "ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖๐ พรรษา" ถ้าสำหรับพระบรมราชินี (มิใช่สมเด็จพระบรมราชินีนาถ) สมเด็จพระยุพราช และสมเด็จพระบรมราชกุมารี ใช้ราชาศัพท์ว่า "พระชนมายุ" และลงท้ายว่า "พรรษา" เช่น "ทรงเจริญพระชนมายุ ๓๖ พรรษา" ในกรณีนี้น่าจะมี "สมเด็จพระบรมราชชนนี" อยู่ด้วย แต่หนังสือ "รวมเรื่องและข้อบังคับเกี่ยวกับราชสำนัก" ที่สำนักพระราชวังจัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘ ไม่ได้กล่าวถึงไว้ ไม่ทราบว่าในการพิมพ์ครั้งหลัง ๆ จะได้เติมไว้หรือไม่ หากใช้สำหรับพระราชวงศ์ทั่ว ๆ ไป ให้ใช้ว่า "พระชันษา" และลงท้ายว่า "ปี"

ในเรื่องการใช้ราชาศัพท์นี้ ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า เจ้าหน้าที่กรมประชาสัมพันธ์ สถานีวิทยุกระจายเสียงอื่น ๆ และสถานีวิทยุโทรทัศน์ทุกแห่งควรจะได้สนใจเกี่ยวกับการใช้ราชาศัพท์ให้มาก เพราะมีผู้ฟังและผู้ชมอยู่ทั่วประเทศ เขามักจะถือกันว่าอะไรที่ออกมาจากกรมประชาสัมพันธ์หรือทางวิทยุและโทรทัศน์แล้วคงจะถูกต้องทั้งนั้น แต่ก็ปรากฏว่ามีผิดพลาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ข้าพเจ้าได้ยินเจ้าหน้าที่หรือผู้บรรยายทางสถานีโทรทัศน์สีช่อง ๗ ใช้ราชาศัพท์ว่า "พระ ชนมายุ ๖๐ พรรษา" อยู่บ่อย ๆ และสถานีวิทยุและโทรทัศน์ช่องอื่น ๆ ก็ได้ยินอยู่เสมอ แต่ไม่ได้จำไว้ว่าสถานีวิทยุสถานีไหน หรือโทรทัศน์ช่องใด จึงขอร้องให้ ผู้หลักผู้ใหญ่ของกรมประชาสัมพันธ์ สถานีวิทยุกระจายเสียงทุกสถานี และสถานีวิทยุโทรทัศน์ทุกแห่งได้กวดขันเจ้าหน้าที่หรือโฆษกหรือผู้บรรยายทั้งหลายได้ศึกษาเรื่อง "ราชาศัพท์" ไว้บ้าง ถ้าเขาพิมพ์มาผิด ๆ ก็ควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องก่อนแล้วจึงค่อยออกอากาศต่อไป.


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๗ ธันวาคม ๒๕๓๕
Back