Back

เชียงตุง - เกงตุง

เมืองสำคัญในแคว้นฉานหรือไทยใหญ่ในประเทศสหภาพพม่า ที่คนไทยเรารู้จักดีเมืองหนึ่ง ก็คือ เมืองเชียงตุง ซึ่งได้ทราบว่าเวลานี้ไทย พม่าและจีนกำลังปรึกษาหารือที่จะทำถนนจากแม่สายไปยังสิบสองปันนาโดยผ่านเมืองเชียงตุง ด้วย แต่ก็ไม่ทราบว่ามีข้อเท็จจริงมากน้อยเพียงใด เพราะเป็นความคิดของพวกนักธุรกิจทั้งหลายที่ประสงค์จะให้มีการติดต่อค้าขายระหว่างไทยกับไทยสิบสองปันนาซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน ซึ่งถ้าตัดถนนจากเชียงราย - ท่าขี้เหล็ก ไปสิบสองปันนา ก็จะต้องผ่านเมืองเชียงตุงด้วย และคนไทยก็คงมีโอกาสไปเที่ยวเชียงตุง หรือ เชียงรุ้งในสิบสองปันนาได้สะดวกขึ้น

เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ กองทัพไทยก็ได้ร่วมรบกับกองทัพญี่ปุ่น และยึดแคว้นฉานเอามาเป็นส่วนหนึ่งของไทยได้ แต่เมื่อสงครามยุติลง ไทยก็ต้องคืนแคว้นฉานให้แก่อังกฤษ คำว่า "เชียงตุง" นี้ในภาษาอังกฤษมักเขียนเป็น"เกงตุง" (Keng Tung) ส่วนเหตุผลที่ฝรั่งเขียนเช่นนั้นข้าพเจ้าไม่ทราบ

ต่อมาเมื่อได้อ่านวารสาร "สยามอารยะ" ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๑ พุทธศักราช ๒๕๓๖ จึงได้พบข้อเขียนเรื่อง "ประวัติชนชาติไทเขินเชียงตุง" ของอาจารย์ทวี สว่างปัญญางกูร จึงได้เข้าใจความเป็นมาของคำว่า "เกงตุง" อาจารย์ทวีฯ ได้เขียนไว้ดังนี้

คำว่า "เชียงตุง"

ในภาษาไทย "เมืองเชียงตุง" อาจหมายถึงรัฐเชียงตุงและนครเชียงตุง ได้ทั้ง ๒ อย่าง แต่ภาษาบาลีแยกรัฐกับนครอย่างชัดเจน คือ เรียก "เขมรัฐ" (รัฐที่มีความเกษมสำราญ) สำหรับแคว้นเชียงตุง และ "ตุงคบุรี" สำหรับนครเชียงตุง เจ้าสายเมืองจำแนกว่า

"The Classical name of Kengtung State is KHEMARATTHA
and its capital, Kengtung City, is TUNGAPURI,"
(The Padaeng Chronicle and the Jengtung State
Chronicle translated, p.3)

ชาวต่างประเทศบางคนเรียกผิดว่า "the Kingdom of Tungapari"

ชื่อ "เชียงตุง" ในแผนที่ภาษาอังกฤษเขียนเป็น KENG - TUNG เพราะเขียนตามเสียงไทใหญ่ ซึ่งใช้ "เก็ง" แทน "เชียง" เช่น "เชียงใหม่" จะเรียกเป็น "เก็งเหม่อ - อ" เป็นต้น ส่วนชาวไทเขินเรียก "เชียงตุง" เป็น "เจ็งตุ๋ง" เจ้าสายเมือง มังราย ในหนังสือของท่าน จึงแก้คำว่า KENGTUNG มาเป็น JENGTUNG ตามเสียงไทเขิน

ในชื่อ "เชียงตุง" คำว่า "เชียง" หมายถึงเมืองซึ่งรวมทั้ง "เวียง" และบริเวณรอบ ๆ ส่วนคำว่า "ตุง" นั้นมาจากชื่อฤษีองค์ที่ตำนานเมืองเชียงตุงจารึกว่าเป็นผู้สร้างเมืองเชียงตุง เรื่องนิทานดึกดำบรรพ์มีอยู่ว่า สมัยโบราณน้ำท่วมเมืองเชียงตุงจนชาวบ้านอยู่ไม่ได้ ต้องหนีขึ้นดอยหมด ตอนหลังมีโอรสเจ้าฟ้าว้อง (จักรพรรดิเมืองจีน) องค์หนึ่งมาใช้อภินิหารไม้เท้าของพระองค์ ขีดพื้นดินให้กลายเป็นร่องน้ำ ระบายน้ำจากหนองไป ทีแรกขีดลงทางทิศใต้ น้ำไม่ไหลออก ครั้งที่สองต้องขีดพื้นทิศเหนือแล้วต่อสายน้ำเข้าแม่น้ำโขง น้ำถึงจะไหล การที่แม่น้ำไหลขึ้นเหนือ จึงมีชื่อว่า แม่น้ำขึน ส่วนบริเวณหนองเดิม จึงมีชื่อว่า "หนองตุง" และเมืองตุงคบุรี หรือ เชียงตุง (ก็ตั้ง) ตามชื่อของตุงคฤษี ผู้สร้างเมืองเชียงตุง"

นอกจากนั้น อาจารย์ทวี สว่างปัญญางกูร ยังได้กล่าวถึงที่ตั้งเมืองเชียงตุงไว้ด้วย ดังนี้ "แคว้นเชียงตุงอยู่ด้านเหนือของประเทศไทย และมีพรมแดน ร่วมกัน นับจาก "สามเหลี่ยมทองคำ" หรือที่ที่ ๓ ประเทศ ไทย ลาว และพม่าจดกัน จนตลอดแนวด้านเหนือประเทศไทย

เกี่ยวกับคำว่า "สามเหลี่ยมทองคำ" นั้น ฝ่ายไทใหญ่มีความเห็นว่า หมายถึง รัฐฉาน หรือ ชาน ทั้งรัฐซึ่งมีรูปสามเหลี่ยมมีมุมแหลมด้านตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ระยะห่างกันตามเส้นตรงบนแผนที่ประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร ด้วยเส้นทางแคบ ขรุขระ และคดเคี้ยว ยิ่งนัก"

วันนี้ขอจบเรื่องเมือง "เชียงตุง" เพียงเท่านี้ก่อน.


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๑๘ ตุลาคม ๒๕๓๖
Back