Back
เด็กชาย - เด็กหญิง - นาย - นางสาว - นาง


คำนำหน้าชื่อที่นับว่าเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานก็คือปัญหาว่าผู้ที่จะใช้คำว่า "เด็กชาย" หรือ "เด็กหญิง" นำหน้าจะต้องมีอายุตั้งแต่เท่าใดถึงเท่าใด และผู้ที่จะใช้คำว่า "นาย" และ "นางสาว" นำหน้าจะต้องมีอายุตั้งแต่เท่าใดขึ้นไป ทั้งนี้เพราะบทนิยามในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ก่อให้เกิดความสงสัยขึ้นมา เนื่องจากเมื่อพิจารณาบทนิยามของคำว่า "เด็กชาย" "เด็กหญิง" "นาย" และ "นางสาว" แล้วทำให้เกิด "ช่องว่าง" ระหว่าง "เด็ก" กับ "นางสาว" และ "นาย" ดังนี้

คำว่า "เด็กชาย" พจนานุกรมได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. คำนำเรียกเด็กผู้ชายที่มีอายุไม่เกิน ๑๔ ปีบริบูรณ์." และคำว่า "เด็กหญิง" พจนานุกรมได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. คำนำเรียกเด็กหญิงที่มีอายุไม่เกิน ๑๔ ปีบริบูรณ์." ส่วน คำว่า "นาย" พจนานุกรมได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. คำนำหน้าชื่อชายที่มีอายุ ครบ ๑๕ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป เช่น นายดำ นายแดง ;... และคำว่า "นางสาว" พจนานุกรมได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. คำนำหน้าชื่อหญิงที่มีอายุครบ ๑๕ ปีบริบูรณ์ขึ้นไปและยังไม่ได้แต่งงาน."

จากบทนิยามดังกล่าวนี้ ก็มีปัญหาเกิดขึ้นมาว่า เด็กชายที่มีอายุครบ ๑๔ ปีบริบูรณ์หรือเด็กหญิงที่มีอายุครบ ๑๔ ปีบริบูรณ์แล้ว จะใช้คำนำหน้าชื่ออย่างไร จะใช้ว่า "นาย" และ "นางสาว" ก็ไม่ได้ เพราะ "นาย" เป็นคำนำหน้าชื่อชายที่มีอายุครบ ๑๕ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และ "นางสาว" เป็นคำนำหน้าชื่อหญิงที่มีอายุครบ ๑๕ ปีบริบูรณ์ขึ้นไปและยังไม่ได้แต่งงาน ข้าพเจ้าได้เคยพูดเล่น ๆ ว่าต้องเรียกว่า "หนุ่มสะเทิน" และ "สาวสะเทิน" ทั้งนี้เพราะคำว่า "สะเทิน" พจนานุกรมได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้

"สะเทิน ๑ ว. ครึ่ง ๆ กลาง ๆ, ก้ำกึ่ง, เช่น สาวสะเทิน คือเพิ่งจะขึ้นสาวหรืออยู่ในระหว่างสาวกับเด็กก้ำกึ่งกัน."

ด้วยเหตุนี้ผู้หญิงที่พ้นจากความเป็น "เด็กหญิง" คืออายุครบ ๑๔ ปีบริบูรณ์ ยังเป็น "นางสาว" ไม่ได้ ก็ควรเรียกว่า "สาวสะเทิน" หรือ "ว่าที่นางสาว" ส่วนผู้ชายที่พ้นจากความเป็น "เด็กชาย" คืออายุครบ ๑๔ ปีบริบูรณ์แล้ว แต่ยังไม่ครบ ๑๕ ปีบริบูรณ์ ก็ยังเป็น "นาย" ไม่ได้ ดังนั้นก็ควรเรียกว่า "หนุ่มสะเทิน" หรือ "ว่าที่นาย"

เหตุที่บทนิยามในพจนานุกรมได้ก่อให้เกิด "ช่องว่าง" เช่นนี้ เนื่องมาจากคำนำหน้าชื่อเหล่านี้ ได้มาจากกฎหมายคนละฉบับ คือ บทนิยามความหมายของคำว่า "เด็กชาย" และ "เด็กหญิง" ได้มาจากพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๔ ซึ่งได้ให้บทนิยามของคำว่า "เด็ก" "เยาวชน" และ "ผู้ใหญ่" ไว้ดังนี้

"เด็ก" หมายความว่า "บุคคลอายุเกินกว่าเจ็ดปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่เกินกว่าสิบสี่ปีบริบูรณ์."

"เยาวชน" หมายความว่า "บุคคลอายุเกินกว่าสิบสี่ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึงสิบแปดปีบริบูรณ์ แต่ไม่ได้หมายถึงบุคคลผู้บรรลุนิติภาวะแล้วด้วยการสมรส".

"ผู้ใหญ่" หมายความว่า "บุคคลอายุสิบแปดปีบริบูรณ์แล้ว".

จากพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. ๒๔๙๔ นี้ "เด็ก" ก็หมายถึงบุคคลที่มีอายุเกิน ๗ ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่เกินกว่า ๑๔ ปีบริบูรณ์ พอครบ ๑๔ ปี บริบูรณ์ก็เป็น "เยาวชน" ไปจนถึงอายุ ๑๘ ปีบริบูรณ์ ต่อจากนั้นจึงจะได้ชื่อว่าเป็น "ผู้ใหญ่" แล้ว

ส่วนคำว่า "นางสาว" ได้มาจาก "ประกาศสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ เรื่องระเบียบการใช้บัตรชื่อ" พ.ศ. ๒๔๘๗ ในข้อ ๕. ข. มีข้อความดังนี้

"ข. บัตรชื่อของหญิงสาว (อายุตั้งแต่สิบห้าปีบริบูรณ์ขึ้นไป) สำหรับหญิงรุ่นสาว ไม่จำเป็นต้องมีบัตรชื่อของตนเอง แต่อาจใช้บัตรชื่อร่วมกับแม่ของตน คือ พิมพ์ชื่อลงใต้ชื่อของแม่ก็ได้ แต่ถ้าเป็นผู้เข้าสมาคมแล้ว ให้มีบัตรชื่อของตนเองได้ การพิมพ์ชื่อในบัตรลงว่า "นางสาว" ข้างหน้าชื่อตัว..."

นั่นคือ หญิงสาวที่มีอายุตั้งแต่ ๑๕ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ถ้าเป็นผู้เข้าสมาคมแล้วก็สามารถใช้คำว่า "นางสาว" นำหน้าชื่อตนได้

นอกจากนั้นใน "พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยคำนำนามเด็ก พ.ศ. ๒๔๖๔" ข้อ ๑ ได้บอกไว้อย่างชัดเจนว่า

"คำว่า "เด็ก" ในที่นี้ ให้พึงเป็นที่เข้าใจว่า ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ ๑๕ ปีลงมา"

เพราะฉะนั้น "เด็กชาย" และ "เด็กหญิง" ถ้าหากกำหนดอายุไว้ว่า จะต้องมีอายุต่ำกว่า ๑๕ ปีบริบูรณ์ลงมา ปัญหาเรื่อง "ช่องว่าง" ระหว่าง "เด็กชาย" "เด็กหญิง" กับ "นาย" "นางสาว" ก็คงจะหมดไป

ในการประชุมคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์กฎหมายไทย ของราชบัณฑิตยสถาน เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน และวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้ปรับปรุงแก้ไขบทนิยามของ "เด็กชาย" และ "เด็กหญิง" เป็นต้นใหม่ดังนี้

"เด็กชาย น. คำนำหน้าชื่อเด็กผู้ชายที่มีอายุไม่ถึง ๑๕ ปีบริบูรณ์."
"เด็กหญิง น. คำนำหน้าชื่อเด็กผู้หญิงที่มีอายุไม่ถึง ๑๕ ปีบริบูรณ์."
"นางสาว น. คำนำหน้าชื่อหญิงที่มีอายุตั้งแต่ ๑๕ ปีบริบูรณ์ขึ้นไปและยังไม่มีสามี."
"นาง น. ...; คำนำหน้าชื่อหญิงผู้มีสามีแล้ว."
"นาย น. คำนำหน้าชื่อชายที่มีอายุตั้งแต่ ๑๕ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป."


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๙ กรกฎาคม๒๕๓๔
Back