Back

เต้า

วันนี้จะได้นำคำว่า "เต้า" มาเสนอท่านผู้ฟัง ทั้งนี้เพราะคำว่า "เต้า" นั้นมีความหมายหลายอย่าง ที่เป็นภาษาไทยแท้ ๆ ก็มี ที่เป็นภาษาจีนก็มี พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายของคำว่า "เต้า" ไว้ต่าง ๆ กัน ดังนี้

"เต้า ๑ น. เครื่องบนของเรือนสำหรับสอดที่ช่องปลายเสารับเชิงกลอน, ถ้าอยู่ตามเสาที่ไม่ใช่มุม เรียกว่า เต้าราย, ถ้าอยู่ที่เสามุมรับเชิงทั้ง ๒ ข้าง เรียกว่า เต้ารุม ; (ราชาศัพท์) หม้อใส่น้ำ เรียกว่า พระเต้าษิโณทก ; นม ; น้ำเต้า ; เรียกภาชนะที่รูปคล้ายน้ำเต้า เช่น เต้าปูน เต้าน้ำ ; ลักษณนามเรียกนมหรือพูลูกตาล เช่น นมเต้าหนึ่ง ตาล ๒ เต้า ; เรียกสิ่งอื่นที่มีลักษณะฐานนูนขึ้นอย่างเต้านม."

"เต้า ๒ ก. ไป."

"เต้า ๓ น. คำกำกับชื่อปีในวิธีนับศักราชของไทยเหนือตรงกับเลข ๙, เขียนเป็นเต่า ก็มี."

"เต้า ๔ น. ศาสนาเต๋า."

ที่ "เต้า ๒" พจนานุกรมได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. ชื่อศาสนาสำคัญศาสนาหนึ่งของจีนมีศาสดาชื่อ เล่าจื๊อ หรือ เหลาจื่อ, เต้า ก็ว่า."

ในหนังสือ "ภาษาไทย ภาษาจีน" ของคุณเฉลิม ยงบุญเกิด ได้อธิบายถึงคำว่า "เต้า" และลูกคำอื่น ๆ เช่น เต้าเจี้ยว เต้าทึง ฯลฯ ไว้ดังนี้

"เต้า น. ปทานุกรม กระทรวงธรรมการให้ความหมายว่า ถั่ว ภาษาจีนแต้จิ๋วอ่านว่า เต่า แปลว่า ถั่ว"

"เต้าเจี้ยว น. ถั่วเหลืองที่หมักเกลือสำหรับปรุงอาหาร ภาษาจีนแต้จิ๋วว่า เต่าเจี่ย แปลว่า เต้าเจี้ยว."

"เต้าทึง น.ของหวานของจีนชนิดหนึ่ง ประกอบด้วยถั่วเขียว ลูกบัว ลูกเดือย ลูกพลับ วุ้น และแป้ง ต้มกับน้ำตาล ภาษาจีนแต้จิ๋วอ่านว่า เต้าทึง เช่นกัน แปลตามตัวอักษรว่า ถั่วต้มน้ำตาล มีความหมายเต้าทึง คณะแต้จิ๋วที่ขายของชนิดนี้ร้องขายเป็น เช็งทึง แปลว่า น้ำใส ตามปรกติจีนเรียก ถั่วต้มน้ำตาลว่า เต้าทึง ถั่วเขียวต้มน้ำตาลเรียกว่า เหล็กเต่าทึง ถั่วแดงน้ำตาล เรียกว่า เชียะเต่าทึง" พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. ชื่อของหวานชนิดหนึ่ง มีถั่วเขียวกับลูกเดือยต้ม แป้งกรอบ และลูกพลับแห้ง เป็นต้น ใส่น้ำตาลต้มร้อน ๆ."

"เต้าส่วน น. ของหวานของจีนทำด้วยถั่วเขียวที่เอาเปลือกออกแล้วต้มกับน้ำตาล แล้วใส่แป้งให้เหนียว ภาษาจีน เต้า คือ ถั่ว ส่วน คือ ใส่แป้ง มีแต่ภาษาพูด ไม่มีภาษาเขียน" คำนี้พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. ชื่อของหวานชนิดหนึ่ง ทำด้วยแป้งเปียกกวนกับถั่วเขียวที่เอาเปลือกออกแล้วราดน้ำกะทิ."

"เต้าหู้ น. ถั่วที่โม่เป็นแป้ง แล้วทำเป็นแผ่น ๆ ภาษาจีนแต้จิ๋วอ่านว่า เต่าหู่ แปลว่า เต้าหู้ เทียบภาษาฮกเกี้ยน เต่าหู่ ภาษามลายู Tauhu เล่ากันว่า เล่าอังสมัยแผ่นดินฮั่นเป็นผู้คิดขึ้น" พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. ถั่วเหลืองที่โม่เป็นแป้งแล้วทำเป็นแผ่น ๆ ใช้เป็นอาหาร มี ๒ ชนิด คือ เต้าหู้ขาว และ เต้าหูเหลือง."

"เต้าหู้ยี้ น. อาหารเค็มของจีน ภาษาจีนแต้จิ๋วอ่านว่า เต่าหู่ยู่ แปลว่า เต้าหู้ยี้ เป็นเต้าหู้หมักแช่เกลือจนเปื่อยเละ" พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. อาหารเค็มของจีน ทำด้วยเต้าหู้ขาวหมัก."

"เต้าฮวย น. ชื่อขนมที่ทำด้วยถั่วเป็นเต้าหู้ขาวเละ ๆ รับประทานกับน้ำชิง และน้ำตาลทรายแดง ภาษาจีนแต้จิ๋วอ่านว่า เต่าฮวย แปลว่า เต้าฮวย" พจนานุกรม ฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. ชื่อของหวานชนิดหนึ่ง ทำด้วยน้ำถั่วเหลืองที่มีลักษณะแข็งตัว ปรุงด้วยน้ำขิงต้มกับน้ำตาล."

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่าภาษาจีนได้เข้ามาปะปนอยู่ในภาษาไทยเป็นจำนวนมาก บางทีเราก็ออกเสียงเพี้ยน ๆ ไปจากเสียงเดิมเขาบ้าง ส่วนมากจะออกเสียงตามสำเนียงจีนแต้จิ๋ว ทั้งนี้ เพราะคนจีนในกรุงเทพฯ ส่วนมากจะเป็นคนจีนแต้จิ๋วนั่นเอง.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๔ สิงหาคม ๒๕๓๖
Back