Back

เพลงไทยที่มีชื่อเป็นภาษาต่าง ๆ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ข้าพเจ้าได้ไปซื้อหนังสือแจกงานศพ ณ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี มาหลายสิบเล่ม มีอยู่เล่มหนึ่ง คือหนังสือ "ตำนานเครื่องมโหรีปี่พาทย์" พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางอิง พุกกะพันธุ์ ณ ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๓๕ ในหนังสือนี้ยังไปรวมเรื่อง "เกร็ดความรู้เรื่องดนตรีไทย และประชุมบทเพลงไทยเดิม ภาคหนึ่ง ภาคสอง และภาคสาม" ไว้ครบ ข้าพเจ้าเห็นว่ามีเรื่องที่น่าสนใจอยู่หลายเรื่อง เรื่องหนึ่งก็คือเรื่อง "เพลงไทยที่มีชื่อเป็นภาษาต่าง ๆ" เช่น ลาวดำเนินทราย เขมรไทรโยค มอญดูดาว ขอมกล่อมลูก จีนเก็บบุปผา ทำไมจึงต้องเอาชื่อชาติต่าง ๆ เหล่านั้นมาปะปนอยู่ในเพลงไทยด้วย ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก จึงขออนุญาตนำมาเสนอท่านผู้ฟังซึ่งส่วนมากอาจไม่เคยได้ทราบมาก่อนดังนี้

"เพลงไทยเป็นจำนวนไม่ใช่น้อย มีชื่อเป็นภาษาอื่นนำหน้า ซึ่งทำให้เข้าใจไปได้ว่าเรานำเอาเพลงของชาติอื่น ๆ เขามาใช้ แท้ที่จริงเพลงเหล่านั้นก็เป็นเพลงที่นักดนตรีไทยได้แต่งขึ้นเอง หากแต่ผู้แต่งได้ตัดทำนองให้มีสำเนียงเป็นภาษาต่าง ๆ และตั้งชื่อบอกสำเนียงของภาษานั้นไว้ให้ผู้ฟังเข้าใจง่ายขึ้น ส่วนเพลงที่เป็นของชาติอื่นแท้ ๆ ซึ่งไทยเราได้นำมาบรรเลงก็มีบ้างเหมือนกัน แต่เป็นส่วนน้อยที่สุด และบางทีตัดเอามาเพียงบางส่วนก็มี เช่น เพลงจีนโป๊ยกังเหล็ง เขมรอบต๊ก (พายเรือ) และมาร์ชิงทรูยอร์เยีย เป็นต้น

ในสมัยโบราณ นับตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ไทยเราก็ได้ติดต่อกับชนต่างชาติ เช่นเขมรและจีนตลอดมา ยิ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีชนต่างชาติเข้ามาติดต่อเป็นสัมพันธไมตรีและพึ่งร่มโพธิสมภารอยู่เป็นอันมาก บางสมัยก็ถึงแก่มีกองทหารอาสาของชาตินั้น ๆ เข้ามาสมทบในกองทัพไทยเช่น อาสาจาม อาสามลายู และอาสาญี่ปุ่น เป็นต้น ชนต่างชาติเหล่านั้นย่อมจะนำเครื่องดนตรีติดตัวเข้ามาบรรเลง หรืออย่างน้อยก็นำเพลงในชาติของตนมาร้องประกอบในประเพณีตามลัทธิศาสนาบ้างเพื่อความรื่นเริงบ้าง ตามธรรมดามนุษย์เราย่อมชอบฟังเสียงเพลงที่แปลกออกไปจากทีเคยฟังจำเจอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันและยิ่งเป็นศิลปินด้วยแล้ว จะไม่หยุดอยู่เพียงแค่เกิดความสนใจเท่านั้น ศิลปินย่อมจะต้องสังเกต จดจำ และศึกษาในเสียงเพลงเหล่านั้น และโดยวิสัยของศิลปินจะต้องพยายามสร้างศิลปะของตนให้กว้างขวางออกไปเมื่อดุริยางคศิลปินได้สังเกตและศึกษาจนรู้ถ่องแท้แล้ว ว่าเพลงของภาษาใดมีสำเนียงอย่างไร ซึ่งตรงกับคำพังเพยนี้ว่า "สำเนียงบอกภาษา" จึงได้คิดประดิษฐ์แต่งเพลงภาษาขึ้นให้เป็นภาษาต่าง ๆ นั้นบ้างโดยใช้ทำนองอย่างไทย ๆ ของเราแต่ดัดให้มีสำเนียงเป็นภาษาอื่นหรือบางตอนอาจนำสำเนียงของภาษานั้นมาสอดแทรกไว้เล็ก ๆ น้อย ๆ และเพื่อที่จะนำทางให้ผู้ฟังทราบไว้ก่อนว่าเป็นเพลงสำเนียงอะไร จึงได้ตั้งชื่อเพลงบอกภาษานั้น ๆ ไว้ข้างหน้า เช่น ลาวเสี่ยงเทียน แขกลพบุรี มอญดูดาว จีนเก็บบุปผา และขอมกล่อมลูก เป็นต้น การดัดสำเนียงเพลงให้เป็นภาษาต่าง ๆ ก็เป็นเช่นเดียวกับการดัดสำเนียงการพูดจาของตัวละครหรือลิเกที่แสดงเป็นตัวภาษาต่าง ๆ ซึ่งพูดภาษาไทยเรานี้เอง หากแต่ดัดสำเนียงคำพูดให้เป็นเสมือนชนชาตินั้นพูดไทย

การที่นักปราชญ์ทางดนตรีไทยต้องแต่งเพลงภาษาต่าง ๆ ขึ้นนี้ ก็มีเหตุอยู่หลายประการ นอกจากเพื่อให้บังเกิดความแปลกรสของผู้ฟังดังกล่าวแล้ว การแสดงละครหรือมหรสพบางอย่างก็เป็นเครื่องบังคับให้ต้องสร้างเพลงขึ้น เหมือนกัน เพราะบรรดาผู้จัดการแสดงละครหรือมหรสพเหล่านั้นได้แลเห็นชนชาติต่าง ๆ แต่งกายแปลก ๆ มีทีท่าวิธีการแตกต่างออกไป ก็มักจะปรับปรุงให้การแสดงนั้นมีตัวภาษาต่าง ๆ เข้าแทรก เพื่อให้เป็นที่พอใจของคนดู เมื่อเป็นเช่นนี้ นักร้องนักดนตรีก็จำเป็นต้องแต่งเพลงสำเนียงภาษานั้นขึ้นประกอบการแสดง เพื่อให้กลมกลืนกัน อีกประการหนึ่ง ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่า บางสมัยก็มีกองอาสาต่างชาติรวมอยู่ในกองทัพไทยด้วย นักปราชญ์ทางดนตรีจึงได้แต่ง เพลงภาษาต่าง ๆ ขึ้น เพื่อแสดงกฤษดาภินิหารของพระมหากษัตริย์ไทยและนำมาบรรเลงรวมอยู่ในเพลงกราวนอกในกองทัพไทยนั้นพรั่งพร้อมไปด้วยกองอาสาชาติต่าง ๆ นอกจากนี้ก็เป็นการแสดงความรู้อันกว้างขวางของนักแต่งเพลงไทยซึ่งสามารถดัดสำเนียงให้เป็นเสมือนเพลงของภาษาอื่น ๆ ไปได้ และเมื่อมีผู้หนึ่งแต่งขึ้นได้รับความนิยม ผู้อื่นที่มีความสามารถก็แต่งขึ้นบ้าง จึงได้มีเพลงที่มีชื่อเป็นภาษาอื่นนำหน้าอยู่มากมาย

เพลงที่มีสำเนียงและชื่อเป็นภาษาต่าง ๆ เหล่านี้ ในชั้นแรกก็มีแต่อัตรา ๒ ชั้น และชั้นเดียวเท่านั้น ใช้บรรเลงเป็นเพลงลูกบทต่อท้ายจากเพลงอื่น ๆ บ้าง ใช้ร้องและบรรเลงเป็นเอกเทศบ้าง ที่บรรเลงรวมหลายภาษาก็มี แต่ใช้บรรเลงในเพลงกราวนอก บรรเลงก่อนที่จะลงโรงแสดงลิเก และบรรเลงในชุดเพลงนางหงส์ เรียกว่า "ออกภาษา" หรือ "ออกสิบสองภาษา" (ในโบราณอาจบรรเลงถึง ๑๒ ภาษาจริง ๆ) มาถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ ซึ่งเป็นสมัยที่นิยมการแต่งเพลงขึ้น เป็นอัตรา ๓ ชั้น สมัยที่นิยมการแต่งเพลงขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้นมาก ผู้แต่งบางท่านจึงได้นำเพลงจำพวกภาษามาแต่งขึ้นเป็น ๓ ชั้นไปด้วย และนิยมแต่งกันต่อมาจนถึงสมัยปัจจุบัน เช่น เพลงเขมรไทรโยค และเพลงแขกต่อยหม้อ เป็นต้น การแต่งเพลงภาษาขึ้นเป็น ๓ ชั้นนี้ บางท่านก็รักษาสำเนียงเดิมไว้ แต่บางท่านก็แทรกสำเนียงไทยมาก จนเกือบจะฟังสำเนียงภาษาเดิมไม่ออก และบางท่านก็เพิ่มเติมสำเนียงภาษามากยิ่งกว่าของเดิมเสียอีก ทั้งนี้ก็แล้วแต่รสนิยมของท่านผู้แต่ง เรื่องเพลงภาษาในวงการดนตรีมีดังกล่าวนี้"

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๒๘ กรกฎาคม ๒๕๓๖
Back