Back

เพี้ย - พระยา

ในเวลาประชุมกรรมการทำพจนานุกรมศัพท์วรรณคดีไทย ที่ราชบัณฑิตยสถาน เรามักมีปัญหาต้องอภิปรายกันอยู่มาก ในคราวที่ทำศัพท์เกี่ยวกับหนังสือ "ไตรภูมิกถา" หรือ "ไตรภูมิพระร่วง" นั้น ได้มีพาดพิงถึงตำแหน่ง "เพี้ย" ในทางภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่ง ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร
ราชบัณฑิต ได้อธิบายว่าตำแหน่งที่มีคำว่า "เพี้ย" นำหน้าทางภาคเหนือที่เราพบ อยู่ในหนังสือพงศาวดารเสมอนั้น ความจริงก็ตรงกับคำว่า "พระยา" ของภาคกลางนั่นเอง

ข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือ "ลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ" ฉบับหอสมุดแห่งชาติ ได้พบข้อความที่กล่าวถึง "เพี้ย" ไว้ นับว่าน่าสนใจมาก คือ ตำแหน่งผู้ปกครองสำหรับประเทศภาคอีสานทั้งหลาย แต่โบราณนั้น เขาถือว่าตำแหน่งเจ้า ผู้ครองเมืองเป็นตำแหน่งที่ ๑ ตำแหน่งที่ ๒ ก็คือ เจ้าอุปราช ตำแหน่งที่ ๓ คือ เจ้าราชวงศ์ และตำแหน่งที่ ๔ คือ เจ้าราชบุตร ต่อจากนั้นก็มีตำแหน่งที่ ๕ ถึง ๑๖ เรียกชื่อตำแหน่งตามลำดับ คือ ๕. เมืองแสน ๖. เมืองจันทร์ ๗. เมืองขวา ๘. เมืองซ้าย ๙. เมืองกลาง ๑๐. เมืองคุก ๑๑. เมืองฮาม ๑๒. นาเหนือ ๑๓. นาใต้ ๑๔. ซาเนตร ๑๕. ซานนท์ ๑๖. ซาบัณฑิต ตำแหน่งตั้งแต่เมืองแสนลงมาจนถึงซาบัณฑิต เรียกว่า "เพีย" อีกประการหนึ่งตำแหน่งตั้งแต่เมืองแสนลงมาจนถึงซาบัณฑิตนั้น ถ้าเป็นเมืองเอกราชหรือเมืองประเทศราชตามชาติชนภาคอีสาน ต้องเรียกว่า พระยา ทั้งสิ้น เหมือนดังเรียก เพียเมืองแสน ว่า พระยาเมืองแสน เป็นต้น

อีกตอนหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า "นอกจากตำแหน่งที่เรียกชื่อทั้ง ๑๖ นั้น ยังมีตำแหน่งพิเศษออกไปอีกหลายตำแหน่ง แต่ตำแหน่งพิเศษเหล่านั้น จะตั้งขึ้นก็ได้ หรือมิตั้งขึ้นก็ได้ เหมือนดังตำแหน่งเพียนามเสนา เพียมหาเสนา เพีย จันทรฮส ฯลฯ" อีกตอนหนึ่ง ได้กล่าวว่า "...ตำแหน่งรองลงไป ๑๒ ตำแหน่ง (คือ ตั้งแต่ตำแหน่งเมืองแสนลงไปถึง ซาบัณฑิต) นั้น มีชื่อต่าง ๆ เหลือที่จะค้นหาเค้าเงื่อนได้ แต่มีชื่อนำหน้าคำเดียวด้วยกันทั้งสิ้น ชื่อนำหน้านั้น คือ "เพีย" คำว่า เพีย นี้แปลไม่ได้ความ คำว่า เพีย นี้ บางทีเดิมจะเป็น "เพรีย" ดังนี้ดอกกระมัง เพราะภาษาราษฎรภาคอีสานมักไม่ใช้คำนี้เป็นอักษร "ควบ" เหมือนดังคำว่า โกรธ ก็อ่านว่า โกธ ดังนี้เป็นตัวอย่าง ถ้าเช่นนั้นคำว่า "เพีย" ซึ่งว่าจะเป็น "เพรีย" ก็จะแปลได้ความว่า "ผู้มีเพียร" หรือจะเป็น เพียร์ แปลว่า ผู้มีเพียรก็จะได้ เพราะภาษาไทยใช้คำว่า เพียร ซึ่งเป็นคำแปลงมาจากภาษาบาลี คือ "วีระ" เป็น "พีระ" แผลงไปเป็น เพียร ก็ได้ความ ถ้า "พิริยะ" แปลงเป็น "เพรีย" คืออักษร พ และ ร ควบเป็นสำเนียงเดียวกันก็ได้ เพราะคำว่า พิริยะ ถ้าอ่านสำเนียงเร็วเข้าก็อาจจะกลายเป็นเพรียไปได้ แต่ยังไม่เห็นที่มาเป็นตัวอย่างในที่ใดที่หนึ่งเลย คำอธิบายนี้เป็นแต่พูดหันหามูลเหตุเดิม ด้วยเห็นว่าจะเป็นดังนี้ อนึ่ง คำว่า "เพีย" เป็น "เพี้ย" ดังนี้ เติมไม้โท ( ้ ) เข้า ที่จริงไม่ถูกตามสำเนียงภาษาภาคอีสานเลย โดยเหตุผลดังได้อธิบายมาแล้ว อธิบายคำว่า "เพีย" นี้เป็นแต่ส่วนคาดคะเนหมายจะเป็นดังนี้ เมื่อจะถูกต้องตามที่ได้อธิบายมาแล้วนี้ก็จะเป็นการดี ถ้าพลาดจากความประสงค์เดิมไปแต่อย่างใด ข้าพเจ้าผู้อธิบายก็เป็นยอมตาม ด้วยไม่พบที่มาในแห่งใดในแบบแผนอันใดเลย"

คำว่า "ข้าพเจ้า" ดังกล่าวมานี้ หมายถึง หลวงผดุงแคว้นประจันต์ (จันทร์ อุตตรนคร) ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายความหมายที่มาของหนังสือ "ลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ" ไว้ตอนหนึ่งว่า

"เรื่องเหล่านี้เป็นของแต่งขึ้นโดยกระแสรับสั่งในพระบาทสมเด็จ พระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยเมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๓๓ สมาชิกหอพระสมุดวชิรญาณ เลือกสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เป็นสภานายกหอพระสมุดฯ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชยังทรงพระเยาว์อยู่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงบัญชาการแทน ในปีนี้โปรดให้กะเรื่องต่าง ๆ ซึ่งจะให้แต่งหนังสือ แล้วขอแรงสมาชิกให้ช่วยกันแต่งส่ง ลงพิมพ์ในหนังสือวชิรญาณวิเศษ ส่วนพระองค์ก็ทรงรับด้วยเหมือนกัน ได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง พระราชพิธี ๑๒ เดือน ซึ่งเป็นหนังสือเรื่องที่นับถือกันมาอยู่บัดนี้ในคราวนั้น ส่วนสมาชิกทั้งหลายใครรักจะแต่งเรื่องอย่างไร ก็รับเรื่องนั้นไปแต่งมาถวาย จึงมีหนังสือซึ่งแต่งดี ๆ เกิดขึ้นในคราวนั้นเป็นอันมาก.


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖
Back