Back
เสลด - เสมหะ - เศลษม์


คำในภาษาไทยส่วนใหญ่มักจะเป็นคำที่มาจากคำบาลีและสันสกฤต แต่บางคำเราก็เขียนรูปต่างไปจากภาษาเดิมเขาไม่ทราบว่าเพราะเรามีคำเช่นนั้นใช้มาแต่เดิม หรือเราได้แบบมาจากภาษาบาลีหรือสันสกฤตแล้วเราแปลงรูปให้เป็นไทย ๆ ไป อย่างเช่นคำว่า "เสลด" (สะเหฺลด) ซึ่งเป็นคำ ๒ พยางค์ ไม่น่าจะเป็นคำไทยแท้เลย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. เสมหะ, เมือกที่ออกจากลำคอ." และมีข้อความในวงเล็บว่า "เทียบสันสกฤต เศฺลษฺม" ซึ่งออกเสียงคล้าย ๆ กัน

คำว่า "เสลด" อย่างที่เขียนอยู่ในปัจจุบัน คือ สระเอ ส(เสือ) ล(ลิง) และ ด(เด็ก) สะกดนี้ ในหนังสือปทานุกรม ฉบับกรมตำรา กระทรวงธรรมการ พ.ศ. ๒๔๗๐ มิได้เก็บไว้ เก็บไว้แต่ที่เป็นรูปสันสกฤตว่า "เศลษม์" (เสลด) คือ สระเอ ศ(ศาลา) ล(ลิง) ษ(ฤๅษี) ม การันต์ บอกว่าเป็นคำสันสกฤต ตรงกับคำบาลีว่า "เสมหะ" และให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. เมือกข้นในลำคอ, เสมหะ." และยังมีคำว่า "เศลษ" (เสลด) สระเอ ศ(ศาลา) ล(ลิง) ษ(ฤๅษี) สะกด ไม่มี ม การันต์ ปทานุกรมได้ให้ความหมายไว้ดังนี้ "น. การติด , การเกาะ, การเกี่ยวข้อง, การร่วม; การกอดรัด." เป็นคำสันสกฤตเช่นเดียวกัน

คำว่า "เสลด" ที่มีรูปเป็นสระเอ ส(เสือ) ล(ลิง) ด สะกด นั้น เพิ่งมาเก็บไว้ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ และให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. เสมหะ, เมือกข้นที่ออกจากลำคอหรือลำไส้." และมีข้อความในวงเล็บ บอกไว้ว่า "เทียบสันสกฤต เศฺลษฺม" นอกจากนั้นก็เก็บคำว่า "เศลษ" ที่มีรูป สันสกฤตเป็น สระเอ ศ(ศาลา) ล(ลิง) ษ(ฤๅษี) สะกดด้วย และให้ความหมายไว้คล้าย ๆ กับในปทานุกรม ฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๐ ดังนี้ "น. การติด, การเกาะ, การเกี่ยวข้อง, การพาดพิง; การกอดรัด." จะมีต่างกันก็คือความหมายที่ว่า "การร่วม" ในปทานุกรม ได้เปลี่ยนเป็น "การพาดพิง" ในพจนานุกรม ฉบับ พ.ศ. ๒๔๙๓ เท่านั้น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะไม่เข้าใจว่า "การร่วม" หมายถึง ร่วมอะไรก็ได้ คำว่า "เสลษม์" หรือ "เศลษ" ซึ่งเป็นรูปสันสกฤตนั้น พจนานุกรม ฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๕ มิได้เก็บไว้

ส่วนคำว่า "เสมหะ" ปทานุกรมได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น.เมือกในลำคอ, น้ำลายเหนียว ซึ่งเป็นก้อนอยู่ในลำคอ." และบอกว่าเป็นคำมคธ ตรงกับคำสันสกฤตว่า "เศฺลษฺมนฺ" (สะเหฺลดสะมัน) พจนานุกรม ฉบับ พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. เมือกที่ออกจากลำคอหรือลำไส้." มีข้อความในวงเล็บบอกไว้ว่าเป็นคำบาลี ตรงกับคำสันสกฤตว่า "เศฺลษฺม" และพจนานุกรม ฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้บทนิยามไว้ว่า น. เมือกที่ออกจากลำคอหรือลำไส้." เช่นเดียวกับพจนานุกรม ฉบับ พ.ศ. ๒๔๙๐

หนังสือ "สํสกฤต - ไท - อังกฤษ อภิธาน" ของ หลวงบวรบรรณรักษ์ (นิยม รักไทย) ได้เก็บไว้ ๓ รูป ดังนี้

"เศฺลษ (สะเหฺลด) น. สมาคม, สังโยค; บริษัท; การกอด; การเกาะ; รูปอลังการวิทยา; union, junction; society or company; enbracing; clinging to; a figure of shetorics."

"เศฺลษฺมก" (สะเหฺลดสะมะกะ) น. เสมหะ, "เศลษม์" ก็เรียก; phlegm, the phlegmatic humour."

"เศฺลษฺมนฺ" (สะเหฺลดสะมัน) น. "เศลษมัน", เศลษม์, เสมหะ; the phlegmatic humour, phlegm."

หนังสือ "ปทานุกรม บาลี ไทย อังกฤษ สันสกฤต" ฉบับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ได้ให้ความหมายของคำว่า "เสมฺหํ, เสมฺโห" ไว้ว่า "เศลษม์; โทษคือ เศลษม์." ตรงกับคำสันสกฤตว่า "เศฺลษมนฺ"

ข้าพเจ้าได้ความหมายของคำว่า "เศฺลษ" (สะเหฺลด) และ "เศฺลษณีย" (สะเลสะนียะ) มาจากหนังสือเล่มใดก็ยังนึกไม่ออก แต่ได้จดความหมายของคำทั้งสองไว้ดังนี้

"เศลษ การติด, การเกาะ, การเกี่ยวข้อง, การพาดพิง; การกอดรัด, การเสพสังวาส (sexual union)"

"เศลษณีย น่ากอดรัด, to be embraced"

เมื่อพิจารณาคำว่า "เสมหะ" "เสลด" และ "เศลษม์" แล้ว ก็จะเห็นว่ามีลักษณะอย่างเดียวกัน คือมีลักษณะเหนียวเกาะและติด อย่างเราพูดกันว่า "เสลดติดคอ" แต่เมื่อเขียนเป็นรูปไทย ๆ ว่า "เสลด" แล้ว เราไม่นิยมเอามาใช้เป็นภาษาพูดหรือภาษาเขียนกัน เห็นว่าเป็นคำไม่สุภาพ จึงนิยมใช้คำว่า "เสมหะ" ซึ่งเป็นรูปบาลี คำนี้มีความหมายคล้าย ๆ กับ "เสน่ห์" ซึ่งมาจากคำบาลีว่า "สิเนห" และตรงกับสันสกฤตว่า "เสฺนห" (สะเนหะ) ซึ่งแปลว่า "ความเยื่อใย, ความรัก, ความรักยิ่ง; ยาง; ตัณหา" ซึ่งบางทีเราก็แปลว่า "ยางเหนียว" แต่คำว่า "สิเนห" กับ "เสมหะ" นั้นมีธาตุหรือรากศัพท์ (root) ต่างกัน

ไทยเราได้หันมาเขียนเป็น "เสลด" รูปไทย ๆ ตั้งแต่เมื่อใด ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ แต่ก็คงจะนานมากกว่า ๑๐๐ ปีแล้ว ทั้งนี้เพราะในหนังสือ "อักขรา--ภิธานศรับท์" ของหมอบรัดเล หน้า ๗๐๗ ได้เก็บคำว่า "เสลด" ไว้ และให้ความหมายไว้ว่า "คือ เสมหะ, เรียกตามสับท์, คือสิ่งที่ข้นเหนียว เช่น น้ำมูกเกิดในคอนั้น." และมีลูกคำอยู่ ๒ คำ คือ

๑. เสลดตีขึ้น, คือ เสลดมันปะทะขึ้นมาในอกถึง คอ เมื่อคนจะตายนั้น

๒. เสลดหางวัว, คือ เสลดขึ้นที่ในลำคอ เมื่อคนจะตายนั้น เพราะมันเหนียวติดกันยึดยาวจึงเรียกเช่นนั้น.

ถ้าพิจารณาจากหลักฐานต่าง ๆ ก็แสดงว่า เราใช้คำว่า "เสลด" มา ๑๐๐ ปีเศษแล้ว พอมาถึง "ปทานุกรม พ.ศ. ๒๔๗๐" ท่านก็หันไปเขียนแบบแขกในรูปสันสกฤต ต่อมาคณะกรรมการชำระปทานุกรมได้หันกลับไปเขียนเป็น "เสลด" ตามอักขราภิธานศรับท์ของหมอบรัดเลอีก ดังปรากฏในพจนานุกรม ฉบับ พ.ศ. ๒๔๙๓ แล้ว.




จำนงค์ ทองประเสริฐ
๑ มกราคม๒๕๓๕
Back