Back
เส้น


คำในภาษาไทยที่เกี่ยวกับการรับคนเข้าทำงาน ซึ่งมีความหมายไม่ค่อยจะเป็นมงคลนั้น มีอยู่คำหนึ่งคือ คำว่า "เส้น" ซึ่งใช้เป็นนามก็มี เป็นวิเศษณ์ก็มี เช่นคำว่า "เด็กเส้น" หรือ "มีเส้น" สมัยหนึ่ง บางทีก็พูดกันว่า "เส้นใหญ่" ให้เหนือกว่า "เส้นเล็ก" ซึ่งไปเทียบกับก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่กับก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็ก และต่อมาก็มี "เส้นก๋วยจั๊บ" ซึ่งใหญ่กว่า "เส้นใหญ่" ความจริงก๋วยจั๊บเป็นแผ่น ไม่ใช่เป็นเส้น นอกจากนั้นก็มี "เส้นแข็ง" ซึ่งใช้เรียกบุคคลที่มีผู้หลักผู้ใหญ่หรือผู้มีอิทธิพลเป็นผู้ให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง คำเหล่านี้เป็นคำภาษาปาก หรือภาษาพูดที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ เก็บไว้บ้างแล้ว ส่วนคำว่า "เส้น" ที่ใช้ทั่ว ๆ ไป รวมทั้งลูกคำด้วย พจนานุกรมได้เก็บไว้ดังนี้

"เส้น น. สาย, แถว, แนว, สิ่งซึ่งมีลักษณะเป็นสายในร่างกาย เป็นทางเดินของเลือดและประสาทของร่างกาย; ชื่อมาตราวัด ๒๐ วา เป็น ๑ เส้น; (คณิตศาสตร์) สิ่งซึ่งมีความยาว แต่ไม่มีความกว้างและความหนา."

ในส่วนที่เป็นลูกคำนั้น พจนานุกรมได้เก็บไว้รวม ๒๐ คำด้วยกันดังนี้

๑. เส้นขนาน (คณิตศาสตร์) น. เส้นตรงคู่ใด ๆ ซึ่งอยู่ห่างกันเป็นระยะเท่ากันโดยตลอด; (ภูมิศาสตร์) เส้นหรือวงกลมเล็กบนผิวโลกซึ่งขนานกับเส้นศูนย์สูตร ซึ่งจุดทุกจุดบนเส้นนี้มีค่าละติจูดเท่ากัน เรียกเต็มว่า เส้นขนาดละติจูด.
๒. เส้นแข็ง ว. เส้นตึง; มีผู้มีอำนาจสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง.
๓. เส้นตาย น. วันเวลาที่กำหนดเป็นขั้นเด็ดขาด.
๔. เส้นตื้น ว. ทำให้รู้สึกขันได้ง่าย.
๕. เส้นทาง น. ทาง, แนวทาง.
๖. เส้นผมบังภูเขา (สำนวน) น. เรื่องง่าย ๆ แต่คิดไม่ออก เหมือนมีอะไรบังอยู่.
๗. - ๘. เส้นผ่านศูนย์กลาง, เส้นผ่าศูนย์กลาง (คณิตศาสตร์) น. คอร์ดของวงกลมหรือของวงรี ซึ่งลากผ่านจุดศูนย์กลาง.
๙. เส้นยาแดงผ่าแปด (ปาก) ว. ห่างกันนิดเดียว.
๑๐. เส้นใย น. วัสดุที่เป็นเส้น ใช้ประโยชน์นำไปทำสิ่งทอ เช่น เสื้อผ้า พรม แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ เส้นใยธรรมชาติ ประเภทนี้มีอยู่ในธรรมชาติ เช่น เส้นใยที่ได้จากขนสัตว์ ฝ้าย นุ่น ป่าน ปอ ไหม แร่ซิลิเกต และเส้นใยสังเคราะห์ ประเภทนี้ไม่มีในธรรมชาติ เช่น เส้นใยที่สร้างขึ้นโดยวิธีทางเคมี เช่น ไนลอน ไหมเทียม เส้นใยแก้ว.
๑๑. เส้นใยแก้ว น. เส้นใยสังเคราะห์ทำจากแก้วให้เป็นเส้นเล็ก ๆ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า เศษ ๑ ส่วน ๔๐๐ เซนติเมตร นำไปทอให้เป็นแผ่นแล้วชุบฉาบด้วยเรซินซึ่งเป็นสารประเภทพลาสติก ผลที่ได้เป็นแผ่นวัสดุที่เหนียว แข็งแรง ใช้ประโยชน์ทำเป็นแผ่นฉนวนความร้อน กันเสียง เสื้อเกราะกันกระสุน สร้างเรือขนาดเล็ก สร้างส่วนตัวถังรถยนต์ เป็นต้น (อ.glass fiber).
๑๒. เส้นรอบวง (คณิตศาสตร์) น. เส้นโค้งที่เป็นแนวขอบทั้งสิ้นของรูปวงกลม หรือขอบวงรี.
๑๓. เส้นรัศมี (คณิตศาสตร์) น. เส้นตรงที่เชื่อมจุดศูนย์กลางของวงกลมกับจุดใด ๆ บนเส้นรอบวง.
๑๔. เส้นลึก ว. ทำให้รู้สึกขันได้ยาก.
๑๕. เส้นเลือด น. ส่วนของร่างกายที่มีลักษณะเป็นหลอดสำหรับนำโลหิตไปสู่หรือออกจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย.
๑๖. เส้นวันที่ (ภูมิศาสตร์) น.เส้นสมมุติซึ่งนานาชาติได้ตกลงกัน โดยกำหนดให้ลากทับกับเส้นเมริ เดียน ๑๘๐ องศาของโลก เพื่อใช้เป็นเขตกำหนดการเปลี่ยนแปลงวันที่เมื่อเดินทางข้ามเส้นนี้ไป. (อ.date line).
๑๗. เส้นศูนย์สูตร น. เส้นวงกลมสมมุติที่ลากตรงกึ่งกลางโลกโดยรอบแบ่งโลกออกเป็น ๒ ส่วนเท่า ๆ กัน คือ ส่วนซีกโลกเหนือ กับ ส่วนซีกโลกใต้.
๑๘. เส้นสมมาตร น. เส้นตรงที่ก่อให้เกิดสมมาตร.
๑๙. เส้นสัมผัส (คณิตศาสตร์) น. คอร์ดที่เชื่อมจุด ๒ จุดที่อยู่ใกล้ชิดกันมากจนถือได้ว่าเป็นจุดเดียวกัน.
๒๐. เส้นสาย น. ระบบเส้นของร่างกาย, โดยปริยายหมายความว่า พวกพ้องหรือผู้ช่วยเหลือที่อยู่วงใน.
ในบทนิยามของคำว่า "เส้นผ่านศูนย์กลาง, เส้นผ่าศูนย์กลาง" และ "เส้นสัมผัส" มีคำว่า "คอร์ด" อยู่ด้วย ท่านที่มิได้เรียนคณิตศาสตร์อาจไม่ทราบว่าหมายถึงอะไร คำว่า "คอร์ด" พจนานุกรมได้ให้บทนิยามไว้ ดังนี้ "(คณิตศาสตร์) น. เส้นตรงที่เชื่อมจุด ๒ จุด บนเส้นโค้งใด ๆ. (อ. Chord)."


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๒กรกฎาคม๒๕๓๔
Back