Back
เอกสารของหน่วยศึกษานิเทศก์


ข้าพเจ้าได้มีโอกาสดูหนังสือ "แบบฝึกหัดคัดลายมือ" อันเป็นเอกสาร ศน. ที่ ๒/๒๕๓๕ ที่หน่วยศึกษานิเทศก์ สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการจัดพิมพ์ขึ้นใช้สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ จะได้ยึดเป็นแบบของการคัดลายมือ ดังวัตถุประสงค์ที่ปรากฏอยู่ใน "คำนำ" หนังสือแบบฝึกหัดลายมือ เล่มนี้ ดังนี้

"สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติได้จัดทำแบบฝึกหัดคัดลายมือชั้นประถมศึกษา (ประ - ถม - มะ - สึก - สา) ปีที่ ๑ แผนภูมิตัวอักษรไทยและคู่มือการเขียนอักษรไทยขึ้น เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นการเทิดพระเกียรติในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๓ รอบ ทั้งนี้ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นที่ทรงมีต่อการประถมศึกษาเป็นอเนกประการ ทรงสนพระทัยการจัดการศึกษาและการเรียนการสอนทุกกลุ่มประสบการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มทักษะภาษาไทย ด้านลายมือ ทรงปรารภว่า "บุคคลจะมีลายมือดีได้นั้นจะต้องเริ่มฝึกหัดตั้งแต่เด็ก แต่ปัจจุบันก็ปรากฏว่า มีบุคคลจำนวนไม่น้อย ที่ไม่สามารถเขียนหนังสือได้งามเท่าที่ควรเพราะขาดการฝึกฝนที่เพียงพอ..." และในพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานภาพฝีพระหัตถ์สำหรับเป็นภาพปกของแบบฝึกหัดคัดลายมือในเอกสารชุดนี้

"สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติตระหนักถึงความสำคัญและปัญหาด้านการเรียนการสอนภาษาไทยอย่างยิ่ง จึงได้กำหนดเรื่องการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยเป็นนโยบายหลัก โดยเฉพาะด้านการเขียนซึ่งเป็นสมรรถภาพหนึ่งที่เป็นปัญหา และเมื่อศึกษาลึกลงไป ก็พบว่า นักเรียนมีปัญหาด้านการเขียนตั้งแต่ชั้นพื้นฐาน คือนักเรียนส่วนใหญ่เขียนหนังสือไม่เป็นตัว ไม่มีทิศทาง ไม่ได้สัดส่วน และไม่มีรูปแบบ สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติจึงได้จัดทำเอกสารชุดนี้ขึ้น เพื่อช่วยครูในการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยโดยเฉพาะด้านการเขียน"

"สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เอกสารชุดมิ่งมงคลที่มีภาพปกเป็นภาพฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีนี้จะเป็นขวัญและกำลังใจให้นักเรียน ครู และผู้เกี่ยวข้องทุกคนได้ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาลายมือ และพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทย ตามนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ตามเจตนารมณ์ของหลักสูตร และสนองพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงห่วงใยคนไทยทุกคน"

เมื่อข้าพเจ้าได้เปิดดูรูปแบบของตัวอักษรแต่ละตัวแล้ว ก็เห็นว่าทางสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติประสงค์จะให้เขียนเป็นแบบตัวเหลี่ยม แต่บางตัวก็เหลี่ยมมากไปจนไม่น่าดูและบางตัวก็หัวโตและเหลี่ยมมากไปจนน่าเกลียด อย่างเช่น ตัว ข ฃ (ขวด) ช ซ ฆ ฑ ฯลฯ พอมาดูตัวเลขก็ปรากฏว่าส่วนใหญ่ไม่ใช่แบบตัวเหลี่ยม คือ เลข ๑, ๓, ๔, ๕, ๖, ๘ เป็นลักษณะแบบตัวกลม ส่วนเลขที่ ๒, ๗, ๙ เป็นแบบตัวเหลี่ยม จึงดูลักลั่นกันอยู่ ส่วนที่นับว่าเป็นความบกพร่องอย่างฉกรรจ์ ก็คือ พระนามาภิไธยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งมีอยู่ ๒ แห่งก็ผิดทั้ง ๒ แห่ง แห่งหนึ่งอยู่ที่หน้า "คำนำ" เป็นข้อความในเชิงอรรถที่ว่า

"กระทรวงศึกษาธิการ, สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ, "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินทร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารีกับการคัดลายมือ, กรุงเทพมหา นคร : โรงพิมพ์คุรุสภา, ๒๕๒๕, หน้าคำนำ."

ข้าพเจ้าเห็นว่ามีที่ผิดฉกรรจ์อยู่ ๒ แห่งคือ คำว่า "สิรินทร" (ที่ "ทร" ใช้ "ท ทหารกับ ร เรือ") ซึ่งที่ถูกจะต้องเป็น "สิรินทร" (ที่ "ธร" ต้องใช้ "ธ ธง กับ ร เรือ") ซึ่งแปลว่า "ทรงไว้ซึ่งสิริ" ถ้าหากเขียนเป็น "สิรินทร" ก็จะมีความหมายไปอีกอย่างหนึ่งว่า "จอมแห่งสิริ, ยอดแห่งสิริ" นอกจากนั้นข้อความว่า "กับการคัดลายมือ" เป็นสร้อยพระนามาภิไธยด้วยหรือ? และที่นับว่าผิดฉกรรจ์ยิ่งไปกว่านั้นก็คือที่หน้า ๔๓ ว่าด้วย "เอกสารอ้างอิง" อันดับที่ ๕ มีข้อความดังนี้

"ศึกษาธิการ, กระทรวง, สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้าจักรีสิรินทร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี กับการคัดลายมือ, กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์คุรุสภา, ๒๕๒๙."

ใน "เอกสารอ้างอิง" นี้ ข้อความที่ว่า "กับการคัดลายมือ" ได้เว้นวรรคห่างออกไปจาก "สยามบรมราชกุมารี" นับว่าถูกต้อง แต่ที่ผิดร้ายแรงก็คือ ได้เปลี่ยนพระนามาภิไธยจาก "เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร" มาเป็น "เจ้าฟ้าจักรีสิรินทร" โดยตัดคำว่า "มหา" ออก และ "สิรินธร" ก็ยังพิมพ์ผิดเป็น "สิรินทร" เช่นเดียวกัน

เมื่อไปดูหนังสือ "เขียนอักษรไทยอย่างไรดี" ซึ่งเป็นคู่มือการสอนเขียนอักษรไทยเอกสาร ศน.ที่ ๔/๒๕๓๕ หน่วยศึกษานิเทศก์ สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ จัดพมิพ์ ก็มี "คำนำ" คล้าย ๆ กับเอกสารที่ ศน. ที่ ๒/๒๕๓๕ แต่เชิงอรรถถูกต้องทุกประการทั้งพระนามาภิไธย และการเว้นวรรคตอน แต่พอเปิดไปถึง "บรรณานุกรม" ก็พบที่ผิดฉกรรจ์อีกนั่นคือ พระนามาภิไธย ตอนที่ว่า "เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร" ก็พิมพ์เป็น "เจ้าฟ้าจักรีสิรินทร" ทั้งตก "มหา" และผิดที่ "สิรินธร" อีกตามเคย

เอกสารนี้เป็นของกระทรวงศึกษาธิการ จัดทำขึ้นเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แต่เมื่อทำออกมาแล้วกลับกลายเป็น "ลดพระเกียรติ" ของพระองค์ท่านอย่างยิ่ง สมควรที่ทางกระทรวงศึกษาธิการ ควรจะเรียกเก็บมาทำลายเสียให้หมดโดยด่วน หรือ มิฉะนั้น ก็จะต้องหาวิธีแก้ไขที่เหมาะสมต่อไป และโปรดได้สำเหนียกไว้ด้วยว่า ในเรื่องที่เกี่ยวกับพระนามเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินนั้นควรจะต้องระมัดระวังให้มากเป็นพิเศษ.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๑๖ กรกฎาคม๒๕๓๕
Back