Back



ภาษาไม่ว่าจะเป็นภาษาของชาติใดก็ตามย่อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา บางทีก็มีความหมายเพี้ยนไปจากรูปเดิมบ้าง แต่ก็พอยังสังเกตได้ บางทีก็ผิดตรงกันข้าม หรือกลายเป็นคนละเรื่องไปเลยก็มีบ้าง คำที่มีความหมายเปลี่ยนไปอย่างตรงกันข้าม ก็เช่นคำว่า "แพ้" ซึ่งภาษาถิ่นในภาคพายัพ ภาคอีสาน และแม้แต่ในประเทศลาวเขาใช้หมายความว่า "ชนะ" ทั้งนั้น ซึ่งในความหมายนี้ยังมีเค้าหลงเหลืออยู่ในคำบางคำ เช่น คำว่า "แพ้ผัว" หมายความว่า ผัวสู้ไม่ได้ มีผัวกี่คน ๆ ผัวก็ตายจากไปหมด นั่นคือผู้หญิงคนนั้นชนะผัว หรือคำว่า "แพ้เมีย" ก็หมายความว่า เมียสู้ไม่ได้ คือมีเมียกี่คน ๆ เมียก็ตายจากไปหมด นั่นคือ ผู้ชายคนนั้นชนะเมีย อย่างคนภาคกลางเรียกหญิงชายประเภทนี้ว่า "กินผัว" และ "กินเมีย" หรือคำว่า "แพ้ผม" หมายถึงคนที่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่ อายุเพียง ๒๐ - ๓๐ ปี ผมก็หงอกเป็นดอกเลาอย่างคนแก่ไปแล้ว อย่างนี้เขาเรียกว่า "คนแพ้ผม" หาได้หมายถึงคนหัวล้านไม่ ทั้งนี้เพราะเขาถือว่าความหงอกของผมแสดงถึงความแก่ของคน เพราะตามปรกติคนจะมีผมหงอกมาก ๆ ก็ต่อเมื่ออายุ ๕๐ - ๖๐ ปีขึ้นไป การที่คนหนุ่มคนสาวมีผมหงอกก่อนที่จะถึงวัยอันสมควร จึงเรียกว่า "แพ้ผม" เพราะผมแก่ไปก่อนแล้ว แต่ตัวยังหนุ่มยังสาวอยู่ นั่นคือชนะผมนั่นเอง

นอกจากนั้นบรรพบุรุษของเรายังเกรงว่าภาษาเก่า ๆ จะสูญหายไป อนุชน คนรุ่นหลัง ๆ จะไม่ทราบความหมายก็พยายามเอาคำที่มีความหมายเหมือน ๆ กัน มาเข้าชุดกัน บางทีมีคำที่มีความหมายอย่างเดียวกันซ้อนกันอยู่ถึง ๓ - ๔ คำก็มี เช่น "ถนนหนทางมารควิถี" ซึ่งความจริงแล้ว คำว่า "ถนน" "หน" "ทาง" "มารค" และ "วิถี" ก็แปลว่า "ทาง" ทั้งนั้น หรือ "ชั่วช้าเลวทรามสิ้นดี" คำว่า "ชั่ว" "ช้า" "เลว" และ "ทราม" ในที่นี้ก็มีความหมายอย่างเดียวกันคือ "สิ้นดี" นั่นเอง

แต่ก็มีคำบางคำที่บางคนอุตรินำมาใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องไม่ควร แล้วก็มีผู้นำคำเหล่านั้นไปใช้ต่อ ๆ กัน ทำให้ความหมายของคำเสื่อมทรามลงไปด้วย เช่นคำว่า "แม่ไม้" ซึ่งตามปรกติหมายถึง ท่าของมวยไทยหรือกระบี่กระบอง ซึ่งจะใช้คู่กับคำว่า "ลูกไม้" อย่างแม่ไม้มวยไทยก็มีชื่อแปลก ๆ เช่น นาง มณโฑนั่งแท่น หักงวงช้างไอยรา ฯลฯ แต่เมื่อไม่ช้าไม่นานมานี้ ก็มีเพลงไทยออกมาชุดหนึ่ง เป็นเพลงเทปคาสเซตต์เป็นตลับ ๆ เรียกว่า เพลงชุด "แม่ไม้เพลงไทย" ดูเหมือนจะออกมา ๕ ชุดแล้ว ข้าพเจ้าก็ซื้อไปเปิดฟังทุกชุดที่ออกมา นักร้อง ใหม่ ๆ พยายามนำเอาเพลงเก่า ๆ มาร้อง แต่ก็ร้องได้ไม่ถึงขนาดคนรุ่นเก่า ยิ่งวันหนึ่งข้าพเจ้าได้เคยฟังผู้ร้อง ร้องออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์จะเป็นช่องไหนข้าพเจ้ามิได้จดจำไว้ ปรากฏว่าผู้ร้องร้องไม่ดีเลย แทนที่จะเป็นการทำให้เพลงเก่าที่คนเก่า ๆ เขาร้องไว้อย่างไพเราะมีค่าขึ้น กลับเป็นการฉุดค่าของเพลงให้ลดลงอย่างน่าสงสาร ดูจะเป็นการทำลายมากกว่าเชิดชู

ความจริงแล้วเรื่องเกี่ยวกับ "เพลงไทย" นั้น หาได้มี "แม่ไม้" และ "ลูกไม้" อะไรอย่างมวยไทยหรือกระบี่กระบองอะไรไม่ แต่ในการร้องเพลงไทยเขาอาจจะมี "ลูกเล่น" บ้างก็ได้ แต่ไม่ใช่ "ลูกไม้" ที่คู่กับ "แม่ไม้" บรรดาศิลปินในวงการเพลงมักชอบสร้างคำอะไรที่ไม่เหมาะสมออกมา จนบางครั้งควรจะ เรียกว่า ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง เช่น เพลงอภิอมตะมหานิรันดร์กาล หรืออะไรทำนองนี้ ตามปรกติคำว่า "อมตะ" เป็นคำสูง เช่น อมตธรรม หรือทางพระพุทธศาสนาถือว่า นิพพานเป็นอมตะ ทางคริสต์ศาสนาหรือศาสนาอิสลามถือว่าพระเป็นเจ้า (GOD) เป็นอมตะ และก็เพียง "อมตะ" เท่านั้น แต่เพลงไทยเป็นอะไรที่ยิ่งกว่าพระนิพพานหรือพระเป็นเจ้าเสียอีก คือเป็น "อภิอมตะ" และยังแถมเป็น "นิรันดร์กาล" คือ ไม่มีเวลาเว้นว่าง หรือติดต่อกันไปตลอด ซึ่งก็มีลักษณะอย่างเดียวกับ "อมตะ" นั่นเอง

เมื่อคำว่า "แม่ไม้เพลงไทย" ชักแพร่หลายออกไปเพราะมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ทั้งทางหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์แล้ว ต่อมาก็ได้เกิดคำในลักษณะนี้ขึ้นมาอีกคำหนึ่งแล้ว คือ "แม่ไม้กลกาม" ซึ่งนับว่าเป็นการนำคำว่า "แม่ไม้" ซึ่งเป็นคำสูงในวงการมวยไทยและกระบี่กระบอง ไปใช้กับสิ่งที่ถือกันว่าต่ำทราม ถ้าหากมิได้ติติงกันไว้บ้าง คำสูง ๆ ก็อาจจะถูกฉุดให้ต่ำลงเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของคนบางพวกบางกลุ่ม ซึ่งไม่มีความรู้เกี่ยวกับความหมายที่แท้จริงของคำนั้น หรือมีความคิดผิดเพี้ยนไปจากปรกติธรรมดา ก็ได้.
ี้

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๑ เมษายน ๒๕๓๔
Back