Back



คำภาษาอังกฤษว่า Facsimile นับว่าเป็นคำที่ก่อให้เกิดปัญหาในการใช้คำหนึ่ง คือจะใช้คำภาษาไทยว่า "โทรภาพ" หรือ "โทรสาร" ทั้งนี้เพราะในหนังสือพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้เก็บคำว่า "โทรภาพ" ไว้ และให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น.ภาพหรือรูปที่ส่งมาโดยทางไกล; กรรมวิธีในการถอดแบบเอกสารตีพิมพ์หรือรูปภาพโดยทางคลื่นวิทยุหรือทางสาย เช่นสายโทรศัพท์. (อ. Facsimile)." แต่คำว่า "โทรสาร" พจนานุกรมยังมิได้เก็บไว้ เวลานี้มีผู้ใช้คำว่า "โทรสาร" ในความหมายของคำภาษาอังกฤษว่า facsimile กันมาก จึงได้เกิดมีปัญหาว่าคำนี้ควรจะใช้คำภาษาไทยว่า "โทรภาพ" หรือ "โทรสาร"

เอกสาร "จดหมายข่าว ราชบัณฑิตยสถาน" ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๔ เมษายน ๒๕๓๒ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ดังนี้

"Facsimile โทรภาพหรือโทรสาร

เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีผู้เขียนจดหมายไปยังหนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่ง สงสัยว่าเหตุใดราชบัณฑิตยสถานจึงบัญญัติคำ facsimile หรือ fax ว่า "โทรภาพ" ทั้งที่คำนี้คนทั่วไปและสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ก็ใช้ว่า "โทรสาร" กันทั่วเมือง(ไทย) ยิ่งกว่านั้น ราชบัณฑิตยสถานยังมีหนังสือไปยังหน่วยราชการให้ใช้คำ โทรภาพ แทน โทรสาร อีกด้วย จึงออกจะสนใจไม่น้อยว่าทำไมจึงเป็น โทรภาพ แทนที่จะเป็น โทรสาร

facsimile ออกเสียงตามพจนานุกรมอังกฤษว่า แฟ็ - ซิม - อี - ลี ไม่ใช่ แฟ็ก - ซิ - ไมล์ อย่างที่มักได้ยินคนทั่วไปอ่านกัน facsimile เป็นระบบการสื่อสารโทรคมนาคมที่สามารถส่ง "ข้อมูล" ไปจุดปลายทางที่ต้องการ (ซึ่งอาจจะอยู่ไกลคนละทวีป) โดย "ข้อมูล" จะไปปรากฏยังเครื่องรับในลักษณะของการถ่ายทอด "ภาพ" ที่เหมือนกับ "ข้อมูลต้นฉบับ" ไม่ใช่แต่ "สาร" (แก่น, เนื้อแท้ที่แข็งแรง, ส่วนสำคัญ, ข้อใหญ่ใจความ, ถ้อยคำ, หนังสือ, จดหมาย) เท่านั้น ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ นิยามความหมายของ "โทรภาพ" ว่า "น. ภาพหรือรูปที่ส่งมาโดยทางไกล; กรรมวิธีในการถอดแบบเอกสารตีพิมพ์ หรือรูปภาพโดยทางคลื่นวิทยุ หรือทางสาย เช่นสายโทรศัพท์."

เมื่อพิเคราะห์จากคำนิยามข้างต้นที่ยกมานั้น ก็คงจะพอเข้าใจถึงเหตุผลที่ราชบัณฑิตยสถานบัญญัติ facsimile ว่า "โทรภาพ" ได้ เพราะโดยรูปศัพท์ "โทรภาพ" นั้น สื่อความหมายได้ถูกต้องกับความหมาย facsimile ในการเก็บคำนี้ลงในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ นั้น ราชบัณฑิตยสถานได้สอบถามไปยังหน่วยราชการที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารซึ่งก็ได้ยืนยันการใช้คำ "โทรภาพ" นี้

เหตุที่ปัจจุบันมักใช้ว่า "โทรสาร" อาจจะเป็นเพราะไม่ทราบว่าราช--บัณฑิตยสถานได้บัญญัติคำนี้มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๕ และเก็บลงในพจนานุกรมแล้ว อีกประการหนึ่ง เครื่อง fax ที่ใช้กันตามสำนักงาน ต่าง ๆ นั้น มักใช้แต่จดหมายธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ จึงคิดคำ "โทรสาร" ขึ้น ซึ่งสื่อความหมายไม่ตรงกับคำ ต้นฉบับเท่ากับ "โทรภาพ" ที่ราชบัณฑิตยสถานได้บัญญัติขึ้น

อย่างไรก็ตาม ถ้าต่อไปคำว่า โทรสาร เป็นที่นิยมใช้กันทั่วไปและ "ติด" แล้วก็จะต้องถือว่าเป็น "คำเพี้ยนที่ใช้ได้" อีกคำหนึ่ง เช่นเดียวกับคำ "อัตโนมัติ" ซึ่งเพี้ยนมาจากศัพท์บัญญัติว่า "อัตโนวัติ" (automatic) และพจนานุกรมก็คงจะต้องเก็บคำนี้ไว้ เพราะพจนานุกรมเป็นที่รวมของคำที่มีอยู่ในภาษาและประชาชนเป็นผู้ใช้ภาษา"

เรื่องการบัญญัติศัพท์นั้น มิใช่เป็นเรื่องที่ทำกันได้ง่าย ๆ บางทีบัญญัติออกมาแล้ว ถ้าไม่มีผู้ใช้ก็ "ตาย" ไป แต่ถ้ามีผู้นิยมใช้ คำนั้นก็ "ติด" และคณะกรรมการชำระพจนานุกรมก็จะรับเข้าเก็บไว้ใน "พจนานุกรม" ต่อไป แต่บางทีบัญญัติแล้ว มีผู้นำไปใช้ผิดเพี้ยนไปจากของเดิมก็มี บางทีก็ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่เมื่อใช้ติดแล้ว พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ก็มีรับสั่งว่าเป็น "คำเพี้ยนที่ใช้ได้" อย่างเช่นคำว่า television พระองค์เคยทรงบัญญัติไว้ว่า "โทรภาพ" ต่อมาก็ได้เปลี่ยนเป็น "โทรทัศน์" เพราะใกล้กับความหมายในศัพท์เดิมมากกว่า ในทำนองเดียวกับคำว่า facsimile ซึ่งราชบัณฑิตยสถานได้บัญญัติศัพท์ไว้ว่า "โทรภาพ" ถ้าคนทั่ว ๆ ไปใช้คำว่า "โทรสาร" ก็ต้องถือว่าเป็น "คำเพี้ยนที่ใช้ได้" เช่นกัน

เรื่อง "โทรภาพ - โทรสาร" นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง และทางราชบัณฑิตยสถานก็ได้นำเรื่องนี้มาตีพิมพ์ลงใน "จดหมายข่าว" ฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ อีกครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าจะได้นำมาเสนอท่านผู้ฟังอีกครั้งหนึ่งในคราวต่อไป.



จำนงค์ ทองประเสริฐ
๑๕ เมษายน ๒๕๓๔
Back