Back

โบโรบุดุร์ - บรมพุทโธ

เมื่อวันที่ ๒๓ - ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ ข้าพเจ้าและคณะกรรมการทำพจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรมแห่งราชบัณฑิตยสถานได้เดินทางไปศึกษาด้านโบราณสถานและโบราณวัตถุที่ประเทศอินโดนีเซีย คือ ที่เกาะชวาและบาหลี โดยเฉพาะที่เกาะชวา ได้เดินทางจากเมืองยอกยาการ์ตาไปที่พุทธวิหารโบโรบุดุร์ (Borobudur) หรือที่คนไทยเรานิยมเรียกว่า "บรมพุทโธ"

โบโรบุดุร์ ถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางพระพุทธศาสนาในอินโดนีเซีย เป็นพุทธวิหารที่มหึมา นับว่าเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์แห่งหนึ่งของโลกได้ รูปทรงคล้ายกับพุทธวิหารที่พุทธคยาแต่กดให้แบนลง ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส สูง ๔๒ เมตร มีขนาดรวม ๑๒๓ ตารางเมตร ตอนหลังได้ถูกฟ้าผ่าและภูเขาไฟระเบิด ทำให้ความสูงลดลงเหลือเพียง ๓๑.๕ เมตร ถ้าดูจากข้างบนมีลักษณะคล้ายดอกบัวบานขนาดใหญ่ หินที่ใช้ก่อสร้างและสลักเป็นหินที่ได้จากลาวาภูเขาไฟประมาณ ๕๕,๐๐๐ ตารางเมตร

โบโรบุดุร์เป็นพุทธสถานฝ่ายมหายาน ทำเป็นชั้น ๆ รวม ๑๐ ชั้น เรียกว่า ทศภูมิ หรือ ๑๐ ภูมิ ได้แก่ ๑. ประมุทิตา ๒. วิมลา ๓. ประภาการี ๔. อรจิสมตี ๕. สุทุรชัย ๖. อภิมุขี ๗. ทุรังคมา ๘. อจละ ๙. สาธุมติ ๑๐. ธรรมเมฆ และแบ่งเป็น ภพ ๓ หรือ ธาตุ ๓ ได้แก่ กามธาตุ รูปธาตุ และ อรูปธาตุ

๑. กามธาตุ เป็นชั้นต่ำสุด เป็นโลกแห่งกามารมณ์ของมนุษย์ที่ยังมีความรู้สึกในทางที่เป็นอกุศลอยู่มาก ประกอบด้วย ภูมิ ๓ คือ ประมุทิตา วิมลา และประภาการี กามธาตุนับว่าเป็นฐานที่เป็นโครงร่างของโบโรบุดุร์

๒. รูปธาตุ เป็นชั้นกลาง เป็นโลกของมนุษย์ที่สามารถควบคุมความรู้สึกฝ่ายต่ำที่เป็นอกุศลได้ และมีจิตไปในทางกุศลมากขึ้น แต่ก็ยังติดอยู่ในกิเลสอันเป็นธรรมชาติของมนุษย์อยู่ ประกอบด้วย ภูมิ ๔ คือ อรจิสมตี สุทุรชัย อภิมุขี และ ทุรังคมา หรืออีกนัยหนึ่ง หมายถึง ชั้นแห่งชีวิตของมนุษย์ที่เปลื้องตัวเองจากกามารมณ์ได้ แต่ยังติดอยู่ในรูป หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็ว่า "กามธาตุ" เป็นสวรรค์ในโลกของกามารมณ์ ส่วนรูปธาตุ หมายถึง สวรรค์ชั้นรูปพรหม

๓. อรูปธาตุ เป็นชั้นสูงสุด เป็นโลกของมนุษย์ที่มิได้ยึดติดกับความต้องการทางเนื้อหนังมังสาหรือทางโลกีย์อีกแล้ว ประกอบด้วยภูมิ ๓ คือ อจละ สาธุมติ และธรรมเมฆ หรืออีกนัยหนึ่ง หมายถึง ชั้นที่มนุษย์ไม่ยึดติดในรูปอีกต่อไปแล้ว เป็นสวรรค์ชั้นอรูปพรหม

คำว่า "โบโรบุดุร์" นี้ ศาสตราจารย์ Purabatjaroko ซึ่งเป็นนักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งสันนิษฐานว่า เป็นคำผสมระหว่าง "บะระ" กับ "บุดุร" คำว่า "บะระ" เพี้ยนมาจากคำบาลีและสันสกฤตว่า "วิหาร" จาก "วิหาร" แผลงเป็น "พิหาร" ออกเสียงตามแบบบาลีและสันสกฤตเป็น
"บิ - หาร" และจาก "พิหาร" ก็กลายมาเป็น "เบีย - ระ" ส่วนคำว่า "บุดุร" เป็นชื่อของหมู่บ้านทางทิศใต้ของพุทธวิหารโบโรบุดุร์ ดังนั้นคำว่า "โบโรบุดุร์" จึงหมายความว่า "วิหารที่ตั้งอยู่ ณ หมู่บ้านบุดุร์"

ส่วน ดร. กรอม (Krom) กล่าวว่า "โบโรบุดุร์" มาจากคำว่า "ปะระ + พุทธ" ดร. สตัทเตอไฮม์ (Statterheim) สันนิษฐานว่า "บุดุร" มาจากคำว่า "บุดิว" (Budue) ในภาษามีนังกะบัว (Minangebau) แปลว่า "เด่น, ยื่นออกมา" ฉะนั้น "โบโรบุดุร์" จึงควรแปลว่า "วิหารที่เด่นอยู่บนยอดเขา" สำหรับข้าพเจ้าเองคิดว่า คำว่า "โบโรบุดุร์" น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า "ปรมะ + พุทธ" ซึ่งหมายถึง "พุทธ(วิหาร) ที่ยิ่งใหญ่" มากกว่า

พุทธวิหารโบโรบุดุร์ จึงเป็นพุทธวิหารที่มีทั้งความสวยสง่างามและมีปรัชญาทางพระพุทธศาสนาแบบมหายานแฝงอยู่มาก ควรแก่การศึกษาให้ละเอียดลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่ง.


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๘ กันยายน ๒๕๓๖
Back