Back
โรงสอน - โรงเรียน


ในเวลาที่ข้าพเจ้าสอนวิชาตรรกศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก็พยายามสอนให้นิสิตนักศึกษาเป็นผู้ใช้เหตุผลให้มาก อย่าใช้อารมณ์เป็นใหญ่ ยิ่งต่อมา ถ้าได้เป็นใหญ่ในครอบครัว ในสังคม หรือเป็นใหญ่ในบ้านเมืองขึ้นมาแล้ว ก็จำเป็นจะต้องเป็นคนมีเหตุผลให้มาก อย่าทำอะไรตามอารมณ์ เอาแต่ใจตัวเป็นใหญ่ เพราะอาจทำให้บ้านเมืองล่มจมได้

ในเวลาสอนเรื่อง "การนิยามความหมาย" หรือ "การให้คำจำกัดความ" ก็ได้อธิบายว่ามีวิธีทำได้หลายแบบด้วยกัน แต่แบบหนึ่งคือ "การนิยามโดยเพ่งชื่อหรือรูปศัพท์" และก็ได้ยกตัวอย่างการนิยามโดยเพ่งชื่อว่า อย่างสถานที่ที่มีคำว่า "โรง"นำหน้านั้น ตามปรกติก็หมายถึงสถานที่ที่ต้องประกอบด้วยพื้น เสา และหลังคา ที่นำมาคุมเข้าด้วยกัน และ "โรง" นี้จะใช้กับคำอื่น ๆ ได้มากมาย เช่น ถ้าเป็นโรงที่ใช้แสดงมหรสพ ก็เรียกว่า "โรงมหรสพ" ถ้าเป็นโรงที่ใช้แสดงโขน ลิเก ฯลฯ ก็เรียกว่า "โรงโขน โรงลิเก" ถ้าเป็นโรงที่ใช้เก็บรถ ก็เรียกว่า "โรงรถ" แต่คำว่า "โรงพัก" หาได้หมายถึงสถานที่ที่จะไปนั่งพักผ่อนไม่ หากเป็นที่พักชั่วคราวสำหรับผู้ต้องหา แต่น่าแปลกใจอยู่ก็คือคำว่า "โรงเรียน" ซึ่งน่าจะเป็น "โรงสอน" มากกว่า เพราะเขาได้ตั้ง "โรงสำหรับสอนหนังสือ" ขึ้นมาก่อน เพื่อรับเด็กเข้ามาเรียน แต่บัดนี้เราเรียกว่า "โรงเรียน" คงเป็นเพราะมีนักเรียนมากกว่าครูผู้สอน จึงต้องเปลี่ยนเป็น "โรงเรียน" ตอนแรก ๆ ข้าพเจ้าก็พูดเล่น ๆ ดอก ต่อมาก็พบคำว่า "โรงสอน" จริง ๆ และมีก่อนคำว่า "โรงเรียน" เสียอีก เพราะข้าพเจ้าได้ไปอ่านหนังสือชื่อ "เกร็ดภาษา/หนังสือไทย" ของโสมทัต เทเวศร์ ที่แพร่พิทยาจัดพิมพ์ครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖ มีข้อความตอนหนึ่งที่เกี่ยวกับ "โรงสอน" และ "โรงเรียน" ที่น่าสนใจมาก ข้าพเจ้าขออนุญาตนำมาเสนอท่านผู้ฟังดังนี้

"ภาษาหนังสือที่มีการเปลี่ยนแปลงอีกคำหนึ่งคือคำว่า "โรงเรียน" ในชั้นเดิมทีเดียวเราไม่เรียกว่า โรงเรียน เพราะแต่โบราณมา เราไม่มีโรงเรียน การเรียนการสอนวิชาต่าง ๆ มีแต่ในวัด และถ่ายทอดวิชากันภายในครอบครัวเท่านั้น ครั้นต่อมาเมื่อฝรั่งเริ่มตั้งโรงเรียนสอนหนังสือขึ้นในเมืองไทยก็เรียกโรงเรียนว่า สกูล ตามภาษาฝรั่ง คนที่ทันสมัยในครั้งนั้น ก็มักจะเรียกโรงเรียนว่า โรงสกูล เป็นการเรียกทับศัพท์ ต่อมามีการบัญญัติคำมาเรียกแทนคำโรงสกูลว่า โรงสอน คำว่า โรงสอน จะเริ่มใช้เรียกมาตั้งแต่เมื่อไรไม่ทราบ แต่มีปรากฏในประกาศเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔ ฉบับหนึ่งว่า

"ทรงพระราชดำริว่า บุตรหลานของท่านทั้งปวงบรรดาที่เข้ารับราชการฉลองพระเดขพระคุณอยู่นั้น แต่ล้วนเป็นผู้มีชาติมีตระกูล ควรจะรับราชการในเบื้องหน้าต่อไป แต่ยังไม่รู้หนังสือไทยและขนบธรรมเนียมราชการอยู่โดยมากที่รู้อยู่บ้าง แต่ยังใช้อักษรเอก โท และตัวสะกดผิด ๆ ไม่ถูกต้องตามแบบอย่างก็มีอยู่มาก และการรู้หนังสือก็เป็นคุณสำคัญข้อใหญ่ เป็นเหตุจะให้ได้รู้วิชาและขนบธรรมเรียมต่าง ๆ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดโรงสอนขึ้นไว้ในพระบรมมหาราชวัง"

"ดังนี้จะเห็นว่าได้กำหนดให้คำว่า โรงสอน แทนคำว่า โรงสกูล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔ เป็นอย่างต่ำ และคำว่า โรงสอนก็คงจะใช้กันแพร่หลายในครั้งนั้น หนังสือพิมพ์ที่ออกในสมัยนั้น อย่างเช่นหนังสือพิมพ์ "จดหมายเหตุแสงอรุณ" เล่ม ๑ ฉบับ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๕ ก็ยังใช้ว่า

"แลพวกหมออเมริกัน ได้ตั้งโรงสอนอยู่ที่สำเหร่สำหรับสอนเด็กผู้ชายแห่ง ๑ ที่วังหลัง สำหรับสอนเด็กผู้หญิงแห่ง ๑ แลโรงสอนของพวกหมอ อเมริกัน สองตำบลนี้ ได้ตั้งอยู่หลายสิบปีมาแล้ว เป็นโรงสอนแรกตั้งขึ้นใน กรุงเทพ ฯ นี้ ก่อนกว่าโรงสอนทั้งหมด

"ดังนี้จะเห็นว่าคำ โรงสอน ได้ใช้กันอยู่เป็นเวลานาน แต่เข้าใจว่าจะใช้กัน เพราะความเคยชินด้วย ความจริงนั้น คำว่า โรงสอน อาจจะเปลี่ยนเป็นโรงเรียนแล้วตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๒๘ เพราะมีประกาศอีกฉบับหนึ่งว่า "ถ้าผู้ใดไล่ได้ตลอดก็จะได้หนังสือสำหรับตัวใบหนึ่ง ลงชื่อข้าหลวงพร้อมกับรับรองว่า ผู้นั้นเป็นคนมีความรู้จริง ได้สอบซ้อมวิชาในที่ประชุมข้าหลวงแล้ว หนังสือฉบับนี้จะเป็นประโยชน์แก่ตัวเจ้าของ ในเมื่อเวลาจะไปทำการที่ใด ๆ จะได้ถือไปเป็นประกันสำหรับตัว ถ้าผู้นั้นอยากจะใคร่เล่าเรียนเพื่อจะได้คุณวิเศษในวิชาชั้นสูงต่อขึ้นไป ก็จะเข้าเรียนในโรงเรียนหลวงสำหรับสอนวิชาชั้นสูงได้"

"จากประกาศทั้งสองฉบับนี้ ก็พอที่เราจะกำหนดอายุของคำว่า โรงสอนและโรงเรียนได้แล้วว่า คำว่า โรงสอน ได้เริ่มใช้ไม่เกิน พ.ศ. ๒๔๑๔ และคำว่า โรงเรียน เริ่มใช้ไม่เกิน พ.ศ. ๒๔๒๘ ทั้งนี้ถือเอาประกาศทางราชการ เป็นหลัก

"เมื่อพูดถึงโรงสอนและโรงเรียนแล้ว ก็ใคร่จะพูดถึงคำว่า "นักเรียน" ต่อไป คำว่า นักเรียน นี้ ก็เข้าใจว่าเกิดขึ้นในระยะใกล้ ๆ กับที่ใช้คำว่า "โรงเรียน" ได้ตรวจสอบดูหนังสือเก่าหลายเล่ม ยังไม่พบคำว่า นักเรียน ว่ามีใช้ก่อนนี้ขึ้นไป หรือจะมีหลักฐานกล่าวไว้ที่ไหน แต่ผู้เขียนยังไม่พบก็เป็นได้"

นี่ก็เป็นข้อคิดเกี่ยวกับคำว่า "โรงสอน" และ "โรงเรียน" เป็นอย่างมาก ทั้งนี้เพราะบางคนยังไม่เคยเปิดพจนานุกรมก็มี ยิ่งกว่านั้น บางคนยังไม่ทราบเลยว่า วิธีเปิดพจนานุกรมเพื่อค้นความหมายและการเขียนคำให้ถูกต้องนั้นทำอย่างไร วันนี้ขอยุติรายการเพียงเท่านี้.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๒๒เมษายน๒๕๓๕
Back