ในบรรดาอาชีพต่าง
ๆ ในประเทศไทยนี้ ไม่มีอาชีพใดที่จะได้รับเกียรติสูงส่งยิ่งไปกว่า "อาชีพครู"
อีกแล้ว แม้ครูจะเคยรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจว่า มีคนเขาเปรียบครูเสมือน
"เรือจ้าง" ก็ตาม อย่างน้อยเรือจ้างก็สามารถช่วยทำให้คนข้ามฟาก
ได้สำเร็จ แต่ถ้าหากครูไม่รู้จักพัฒนาตัวเองให้มีความรู้ความสามารถสูงยิ่งขึ้น
ครูก็คงจะต้องเป็น "เรือจ้าง" ตลอดไป ดีไม่ดีเมื่อพาเขาถึงฝั่งแล้ว
เขาอาจจะถีบหัวเรือด้วยก็มีเหมือนกัน ที่ถูกแล้วครูควรจะพัฒนาตัวเองจากเรือจ้างที่ใช้ข้ามฟากตามแม่น้ำลำคลอง
ให้เป็น "เรือใบ" หรือ "เรือสินค้า" ขนาดใหญ่ ที่สามารถช่วยให้คนข้ามทะเล
มหาสมุทรไปยังอีกทวีปหนึ่งได้ ปัญหาก็อยู่ที่ว่า ครู ได้พัฒนาตัวเองจาก
"เรือจ้าง" ให้เป็น "เรือเดินทะเล" ได้หรือยังเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม อาชีพครู แม้จะมีเงินเดือนต่ำ มีเกียรติแบบลม ๆ แล้ง ๆ
ต่ำกว่าอาชีพทั่ว ๆ ไป อย่างอาชีพตุลาการ ผู้พิพากษา หรือนักการเมือง
แต่เกียรติของครูเป็นเกียรติที่มั่นคงถาวร ผิดกับเกียรติในด้านอื่น ๆ
ซึ่งมักจะเป็นเกียรติ ชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น
สิ่งที่ครูน่าจะภาคภูมิใจมากก็คือ เมื่อเปิดการศึกษาในแต่ละปี ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนอนุบาล
โรงเรียนประถมศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษา หรือสถาบันอุดมศึกษาก็ตาม จะต้องมีประเพณี
"ไหว้ครู" กันทุกโรงเรียนทุกสถาบัน ผิดกับอาชีพอื่น ๆ แม้จะสูงส่งเพียงใด
ก็ไม่เคยปรากฏว่ามี "พิธีไหว้" อย่าง "ไหว้ครู"
เลย
ศาสตราจารย์อำไพ สุจริตกุล แห่งคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เขียนไว้ในงานวิจัยเกี่ยวกับ
"การศึกษา" ในโครงการวิจัยเฉลิมฉลองสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ ครบ ๓๖ พรรษา ของสถาบันไทยศึกษาตอนหนึ่ง
ซึ่งได้กล่าวถึง "การไหว้ครู" ไว้ดังนี้
"ตามธรรมเนียมไทย คนที่ไม่รู้จักบุญคุณของครูบาอาจารย์เป็นคนที่น่ารังเกียจและมักถูกเหยียดหยามว่าเป็นคนเนรคุณ
เพราะในโบราณกาลถือกันว่าครูเป็นผู้มีบุญคุณแก่ศิษย์รองจากพ่อแม่บังเกิดเกล้า
หรือถือว่าเป็นพ่อแม่ที่สองก็ว่าได้ จึงมีคำกล่าวต่อเนื่องกันวา "ข้าพเจ้าขอบูชาพระศรีรัตนตรัย
คุณบิดามารดา ครูบาอาจารย์ ..." ในการกราบ ๕ ครั้ง ที่ผู้ใหญ่สอนให้เด็กไหว้พระสวดมนต์บูชาคุณก่อนนอน
ฉะนั้น "ถ้าศิษย์คนใดดูถูกดูหมิ่นครูก็ถือกันว่าเป็นคนที่ใช้ไม่ได้
ขาดความกตัญญู เรียนวิชาความรู้อะไรไปก็จะเสื่อมหมด ดังมีนิทานเล่าถึงศิษย์อกตัญญูไว้หลายเรื่อง
เช่น ที่รู้กันแพร่หลายก็คือ คนที่เรียนวิชาเสกมะม่วงจากคนขอทาน... และมานพหนุ่มเรียนวิชากลืนดาบจากชายทุคตะเข็ญใจ
ได้แสดงวิชากลืนดาบจนเป็นที่โปรดปรานของพระราชา เมื่อพระราชาตรัสถามถึงครู
ก็ไม่ยอมตอบตามความจริง ครั้นแสดงให้ทอดพระเนตรอีกครั้งหนึ่ง ดาบก็บาดเอาถึงแก่ความตาย"
"นอกจากจะเคารพบูชาครูผู้สอนความรู้ให้โดยตรงแล้ว แม้แต่ความรู้ที่ผู้เรียนไปจดจำเอามาจากผู้อื่น
แล้วนำความรู้นั้นมาใช้ เช่นเห็นใครร้องหรือร่ายรำ เล่นดนตรีต่าง ๆ เป็นที่ชอบใจ
ก็จดจำของเขาไว้ แล้วนำมารำหรือเอาแบบอย่างเขาเล่นบ้าง แม้แต่ได้อ่านบทกวีหรือคำประพันธ์ชอบใจวิธีแต่งวิธีเขียน
การใช้ถ้อยคำสำนวนโวหาร ก็จดจำไว้ นำมาใช้ในโอกาสต่าง ๆ เช่นนี้ คนไทยโบราณก็ยังเคารพนับถือเจ้าของเดิมผู้แต่งหรือผู้ประพันธ์ว่าเป็นครูของตนเช่นกัน
เรียกว่า ครูพัก - ลักจำ หรือ ครูพักอักษร สมบัติ พลายน้อย ได้ยกตัวอย่าง
บทไหว้ครูของนักเพลงพื้นบ้านบทหนึ่งดังนี้
|
"...
ไหว้พระพุทธพระธรรม |
ที่เลิศล้ำในโลกา |
|
ไหว้ทั้งครูพักอักษร
|
คุณพระบิดรมารดา |
|
ให้ช่วยชูชุบอุปถัมภ์
|
มาแนะมานำปัญญา |
|
ลูกจะเต้นรำทำท่า
|
เสียในเวลานี้เอยฯ" |
อีกบทหนึ่งว่า
|
"....
สิบนิ้วลูกจะประนม |
ถวายบังคมขึ้นเหนือศีรษะ |
|
ต่างดอกไม้ธูปเทียน |
ขึ้นเหนือเศียรบูชา |
|
ไหว้ทั้งครูเฒ่าที่เก่าก่อน
|
ได้ฝึกสอนให้มีมานะ |
|
ทั้งโทนทับกระจับ |
ปี่ก็ดีดสีเป็นจังหวัะ |
|
จะไหว้ครูรู้ครูพัก |
ทั้งคุณเอกอักขระ |
|
ไหว้บิตุราชมาตุรงค์
|
ด้วยจิตจงอุตสาหะ |
|
ช่วยคุ้มครองป้องกาย
|
ต่อผู้ชายสะมะถะ |
|
จะคิดแก้ไขให้ชยะ
|
ไปตามจังหวะกลองเอยฯ |
ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า
ในสังคมไทยเรานั้น เราให้เกียรติและยกย่อง ครูบาอาจารย์ไว้สูงมาก เพราะท่านเป็นผู้สอนให้ทราบว่าคำใดควรจะออกเสียงอย่างไร
สอนให้เรารู้จักผิดชอบชั่วดี เพื่อเราจะได้นำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของเรา
และจะมีผลกระทบไปยังสังคมอีกด้วย.