กินนร
|
สัตว์ในนิยายที่คนไทยเราคุ้นหูคุ้นตาอยู่ชนิดหนึ่งและได้เข้ามามีบทบาททั้งในวรรณคดีและนาฏศิลป์ของไทยมาก ก็คือ "กินนร" ซึ่งมีผู้สันนิษฐานว่าเป็นคำบาลีมาจากคำว่า "กึ นระ" แปลว่า "คนอะไร?" ทั้งนี้เพราะเท่าที่เราเห็นภาพมักจะมีรูปร่างท่อนบนเป็นคน ท่อนล่างเป็นนกหรือบางทีก็ถอดปีกถอดหางได้อย่างนางกินนรที่ชื่อ "มโนหรา" ในเรื่องพระสุธน เป็นต้น พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้บทนิยามของคำว่า "กินนร" ไว้ดังนี้ "น. อมนุษย์ในนิยาย มี ๒ ชนิด ชนิดหนึ่งเป็นครึ่งคนครึ่งนก ท่อนบนเป็นคน ท่อนล่างเป็นนก อีกชนิดหนึ่งมีรูปร่างเหมือนคน เมื่อจะไปไหนมาไหน ก็ใส่ปีกใส่หางบินไป. (ป.กินนร ; ส.กินนร, กึนร)." ในหนังสือ "เรื่องเบ็ดเตล็ด" ของเสฐียรโกเศศ - นาคะประทีป ที่พิมพ์ แจกในงานพระราชทานเพลิงศพพระยาประชากรกิจวิจารณ์ (โอ อมาตยกุล) ณ เมรุวัดไตรมิตต์วิทยาราม เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ได้เล่าเรื่อง "กินนร - คนธรรพ์" ไว้ดังนี้ "กินนรมีรูปร่างอย่างไร ดูเหมือนไม่ต้องอธิบายก็ได้ เพราะคงรู้จักกัน แล้ว แต่ถ้าว่าตามลักษณะรูปร่าง กินนรในวรรณคดีของอินเดียจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง คือ หน้าเป็นม้า ตัวเป็นคนและเป็นเพศชาย ใน Dawson's Classical Dictionary of Hindu Mythology ว่า กินนรเป็นนักดนตรีและนักขับร้องของเทวดา อยู่บนสวรรค์ชั้นฟ้าเชิงเขาไกรลาส เป็นบริวารท้าวกุเวร เหตุดังนี้ท้าวกุเวรจึงมีชื่อว่า กินนเรศ แปลว่า เป็นใหญ่ในพวกกินนร แต่เดี๋ยวนี้กินนเรศ หมายความว่านางกินนรผิดกับความหมายเดิมที่ว่า เป็นใหญ่ในกินนร ทั้งนี้คงเนื่องมาจากคำอย่าง เยาวเรศ ยุพเรศ อรรคเรศ เป็นต้นเหตุให้กินนรเป็นกินนเรศไปด้วย เป็นเรื่องโรคติดต่อ คำว่า กินนร ในภาษาสันสกฤตและบาลี ใช้หมายความถึงคนถ่อยคนเลวก็ได้ และก็เป็นการแปลกอยู่หน่อย ในภาษาอาหมคือไทยที่อยู่ในประเทศอัสสัมเรียกคนถ่อยคนเลวว่า คนม้า ส่วนคำว่า "หน้าม้า" ในภาษาของเราเอง ก็เป็นคำที่ไม่เป็นมงคลแก่ผู้ที่ถูกเรียกนัก ถ้าคำนี้ไม่ได้หมายความว่า นั่ง อยู่ที่ม้าหน้าร้านคอย "ต้มหมู" แล้ว ก็น่าจะให้ชื่อว่า เป็นพวกกินนรเห็นจะได้ แต่กินนรนั้นถ้าแปลกันตามรูปศัพท์ก็ว่า คนอะไร ส่วนกินนรผู้หญิงเรียกว่า กินนรี คำนี้ก็อีก เรามีเรื่องนางแก้วหน้าม้า ซึ่งมีลักษณะเป็นอย่างกินนรของอินเดียแท้ ๆ แต่กินนรของเราหน้าและตัวท่อนบนเป็นนางมนุษย์ ตัวท่อนล่างเป็นนกซึ่งไปตรงกับคนธรรพ์ของอินเดียที่มีรูปตอนบนเป็นมนุษย์และตอนล่างเป็นนก ดู (Grunwedel's Buddhist Art) ส่วนคนธรรพ์ของเรารูปร่างเป็นยักษ์เป็นการผิดแผกกันอีก กินนรผู้ชายของเรามีรูปรางอย่างไรไม่พูดถึง เห็นจะมีรูปร่างเป็นมนุษย์อย่างพ่อนางมโนราในเรื่องพระสุธนกระมัง รูปสลักที่โบโรบุดุระ มหาสถูปในเกาะชวา มีเรื่องสุธนชาดก เป็นรูปพระสุธนกำลังหยอดธำมรงค์ลงในหม้อน้ำและมีนางกินนรเก้าตนกำลังไปตักน้ำอยู่ นางกินนรเหล่านี้ มีรูปร่างเป็นอย่างนางมนุษย์ตามธรรมดานั่นเอง เป็นอันผิดกับรูปร่างนางกินนรของเราอีก "ในคติของมะลายู มีเจ้าผีดุร้ายตนหนึ่ง เรียกว่า หนุมาน หน้าเป็นม้า ตัวเป็นคน (Vinstedt is Shama Siva and Sufi) บางทีจะได้เค้าไปจากกินนรอินเดียกระมัง ในมหาพนของพระเทพโมลี กลิ่น วัดราชสิทธาราม กล่าว ไว้ในที่แห่งหนึ่งว่า "อัศวมุขีก็คะนองพาคณะเที่ยวในเถื่อนทาง" ก็อัศวมุขี คำนี้ในสันสกฤตว่า หน้าม้า คือ กินนรนั่นเอง และในหนังสือ ไตรภูมิโลกสัณฐาน ก็ดูเหมือนมีกล่าวถึงมนุษย์พวกหนึ่ง มีหน้าเป็นม้าตัวเป็นคน (ข้าพเจ้ายังไม่มีเวลาสอบยืนยัน) แต่อย่างไรก็ตาม เรารู้ได้อย่างหนึ่งว่า กินนรหน้าม้านั้นมีอยู่ในหนังสือเก่าของเรา เราคงรู้จักมาก่อนแล้ว หากมาลืมไปเสียเพราะเกณฑ์ให้กินนรมีรูปเป็นครึ่งนางมนุษย์และครึ่งนกไปเสียแล้ว "ในเรื่องทางอินเดีย เขาว่าพวกกินนรนั้น ถ้าได้คู่สู่สมเป็นสามีภรรยากันแล้ว ย่อมมีความรักใคร่ซื่อตรงต่อกันเสมอ ถ้ากวีอินเดียจะกล่าวถึงความรักระหว่างหญิงกับชายที่บริสุทธิ์ซื่อตรงต่อกัน ก็มักยกเอาความรักแห่งกินนรขึ้นมาเปรียบ "ยังมีมนุษย์อีกพวกหนึ่ง เรียกว่า กิมบุรุษ แปลว่า บุรุษอะไร ซึ่งในวรรณคดีอินเดียรุ่นหลังเอาไปรวมกับกินนร คือเป็นคำใช้แทนกันได้ ซ้ำบางทีก็รวมคนธรรพ์เข้าด้วย กิมบุรุษนี้ ของเดิมหน้าเป็นมนุษย์ ตัวเป็นนก ลักษณะอย่างคนธรรพ์นั่นเอง บางทีเราจะได้ลักษณะกินนรของเรามาจากกิมบุรุษกระมัง รวมความกินนรก็ดี กิมบุรุษและคนธรรพ์ก็ดี เห็นจะเป็นพวกเดียวกัน จะผิดแปลกกันบ้าง ก็เพียงแต่ลักษณะบางประการดังได้เล่ามาแล้ว เช่นในเรื่องพระสุธนของเราตอนหนึ่งกล่าวว่า พราหมณ์ปุโรหิตคิดอุบายปองร้ายพระสุธน ทูลแนะนำให้ท้าว อาทิตยวงศ์แก้ไขอับประมงคล เพราะทรงสุบินร้าย โดยแนะนำ ให้เอาคนธรรพ์บูชายัญเสีย แต่ถ้าจะหาคนธรรพ์ไม่ได้ จะจับนางมโนราบูชายัญแทนก็ได้ เพราะเป็นเชื้อวงศ์คนธรรพ์มาแต่ป่าหิมพานเหมือนกัน ในตำราดนตรีของอินเดีย (Q.J.M.S.Vol. XIV หน้า ๑๖๖) ก็มีว่ากินนรมีหน้าที่ทำเครื่องดนตรี คนธรรพ์เป็นผู้ร้องรำนำ และอัปสรเป็นผู้ทำระบำดั่งนี้ เรื่องกินนรและคนธรรพ์ เพียงเล่ามาย่อ ๆ ก็ยังยุ่งเสียแล้ว จึงต้องขอระงับการยุ่งโดยจบเรื่องลงเพียงนี้เอง" คำว่า "คนธรรพ์" พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. ชาวสวรรค์พวกหนึ่ง เป็นบริวารท้าวธตรฐ มีความชำนาญในวิชาดนตรีและขับร้อง. (ส. คนฺธรฺว; ป. คนฺธพฺพ)." นอกจากนั้นพจนานุกรมยังได้เก็บลูกคำไว้อีก ๒ คำ คือ ๑. คนธรรพ์วิวาห์ (คนทันพะ - ) น. การได้เสียเป็นผัวเมียกันเอง. (ส. คนฺธรฺววิวาห) ๒. คนธรรพศาสตร์ (คนทับพะ - ) น. วิชาดนตรีและขับร้อง. (ส. คนฺธรฺวเวท ว่าวิชาดนตรี)
|