คำไทยและคำจีนที่มีสำเนียงและความหมายคล้ายกัน
|
คำในภาษาไทยเป็นจำนวนมากที่พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ทั้ง พ.ศ. ๒๔๙๓ และ พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้บอกไว้ว่าตรงกับคำจีนว่าอย่างไร แต่ก็มิได้หมายความว่าไทยเรายืมมาจากจีน ความจริงจีนอาจยืมไปจากไทยก็ได้ เพราะไทยก็เป็นชาติเก่าแก่ชาติหนึ่ง เมื่อคนไทยกับคนจีนได้อยู่ใกล้ชิดกัน ต่างคนต่างก็อาจยืมภาษาของกันและกันไปใช้ จนในที่สุดก็เลยไม่ทราบว่า ใครยืมใครหนังสือ "ภาษาไทย ภาษาจีน" ของคุณเฉลิม ยงบุญเกิด ได้กล่าวถึง "คำที่มีสำเนียงและความหมายคล้ายกันมาแต่เดิม" ไว้หลายร้อยคำ ข้าพเจ้าจะขอยกตัวอย่างเฉพาะคำอักษร ล(ลิง) บางคำมาเสนอท่านผู้ฟังเท่าที่เวลาจะอำนวยดังนี้ ๑. คำว่า "ล่อ" ที่พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายไว้ว่าหมายถึง "สัตว์พันทางที่เกิดจากการผสมระหว่างลากับม้า ใช้เป็นสัตว์ต่าง." และคุณเฉลิมได้อธิบายไว้ว่าหมายถึง "สัตว์ผสมจำพวกครึ่งลาครึ่งม้า โดยมากพ่อเป็นม้า แม่เป็นลา" นั้น ภาษาจีนกวางตุ้งออกเสียงว่า "โหล่ย" ๒. คำว่า "ล้อ" ที่พจนานุกรมได้ให้ความหมายไว้ว่าเป็น "ส่วนของรถซึ่งเป็นวงกลมสำหรับหมุนเคลื่อนพารถไป, ลูกล้อ ก็ว่า." นั้น ตรงกับภาษาจีนแต้จิ๋วว่า "ลุ้ง" ๓. คำว่า "ลัง" ที่พจนานุกรมได้ให้ความหมายไว้ว่าได้แก่ "ไม้ที่ต่อหรือสานเป็นรูปสี่เหลี่ยมคล้ายหีบ สำหรับบรรจุสิ่งของ." นั้น ตรงกับภาษาจีนแต้จิ๋วว่า "ลั้ง" ซึ่งแปลว่า "กรง" ๔. คำว่า "ลา" ซึ่งเป็นคำนาม พจนานุกรมได้ให้ความหมายไว้ดังนี้ "ชื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิด Equus asinus (อีควูอุซ อะสินุส) ในวงศ์ Equidae (อีควิดี) ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับม้า รูปร่างคล้ายม้า แต่ตัวเล็กกว่า หูยาว ปลายหางเป็นพู่ ขนแผงคอสั้นตั้งตรง มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา." นั้น คุณเฉลิม ยงบุญเกิด ได้ให้ความหมายไว้ว่าได้แก่ "สัตว์พาหนะชนิดหนึ่งรูปคล้ายม้า แต่หางเป็นพวงที่ปลาย" ภาษาจีนแต้จิ๋วออกเสียงว่า "ลื้อ" ๕. คำว่า "ลี้" ที่พจนานุกรมได้ให้ความหมายไว้ว่า "หลีกหนีไปเร้นซ่อนอยู่ในที่ลับตา" ตรงกับภาษาจีนแต้จิ๋วว่า "ลี้" คือออกเสียงอย่างเดียวกับคนไทย แปลว่า "ออกห่าง, หลีก, จากไป." ๖. คำว่า "ลื่น" ที่พจนานุกรมได้ให้ความหมายที่เป็นกริยาไว้ว่า "อาการที่พลาดไถลหรือเคลื่อนไปได้คล่องบนพื้นที่เรียบเกลี้ยงซึ่งมีลักษณะเป็นมันเป็นเมือก เป็นต้น เช่น ลื่นไป" ส่วนความหมายที่เป็นวิเศษณ์ ก็คล้าย ๆ กัน ดังนี้ "มีลักษณะเรียบเกลี้ยงเป็นมันเป็นเมือกเป็นต้น ทำให้พลาดไถลหรือเคลื่อนไปได้คล่อง เช่น ทางลื่น ตัวลื่น, ไม่ฝืด." คุณเฉลิมให้ความหมายไว้ว่า "ไถลปรูดไป" ตรงกับคำภาษาจีนว่า "ลิว" ๗. คำว่า "ลู่" ซึ่งในวงการกีฬาใช้คู่กับคำว่า "ลาน" พจนานุกรมได้ให้ความหมายไว้ดังนี้ "ทาง, แนว, ช่อง" ตามปรกติไม่มีใช้ตามลำพัง แต่มีคำ ทาง ประกอบอยู่ด้วย, ในทางกีฬาหมายถึงทางวิ่งเป็นแนวเป็นช่อง, คู่กับลาน" นั้น คุณเฉลิม ยงบุญเกิด ได้ให้ความหมายไว้ว่า "ทาง, ทางราบ." ภาษาจีนกลางก็ออกเสียงว่า "ลู่" เหมือนกัน และแปลว่า "ทาง, ทางราบ" ภาษาจีนแต้จิ๋ว ออกเสียงว่า "ลู่" เช่นเดียวกัน และหมายความว่า "ทาง, หนทาง, ถนน" ๘. คำว่า "เลว" เฉพาะที่เป็นคำวิเศษณ์ พจนานุกรมได้ให้ความหมายไว้ดังนี้ "มีค่าต่ำกว่ามาตรฐาน ; สามัญ, ต่ำ, ทราม" นั้นคุณเฉลิม ได้ให้ความหมายไว้ว่า "ทราม, ไม่ดี, ต่ำ, ชั่ว" ตรงกับภาษาจีนแคะว่า "เหล่ว" ๙. คำว่า "เล้า" ที่พจนานุกรมได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "คอกสำหรับให้สัตว์เช่นเป็ดและหมูอยู่." ตรงกับภาษาจีนแต้จิ๋วว่า "ล้อ" ๑๐. คำว่า "เลียง" ที่พจนานุกรม ได้ให้ความหมายที่เป็นคำวิเศษณ์ไว้ว่า "เย็น เช่น น้ำล้นเลียงเอมโอช" นั้น ภาษาจีนกวางตุ้งออกเสียงว่า "ลีอ่อง" ๑๑. คำว่า "เลื่อน" เป็นยานพาหนะชนิดหนึ่งที่พจนานุกรมได้ให้บทนิยามไว้ว่า "ยานชนิดหนึ่งไม่มีล้อ ใช้ลาก" นั้น ตรงกับภาษาจีนกว้างตุ้งว่า "หลิ่น" และภาษาจีนแคะว่า "เลียน" แปลว่า "รถลาก" ๑๒. คำว่า "แล้ว" ที่พจนานุกรมได้ให้ความหมายไว้ว่า "ลักษณะอาการกระทำใด ๆ เสร็จ สิ้น จบ ล่วงไป หรือสุดสิ้นลง หรือต่อแต่นั้นเริ่มใหม่อีกระยะหนึ่ง (จะเป็นการกระทำอย่างเดียวกันหรือต่างกันแล้วแต่กรณี) นั้น ตรงกับภาษาจีนกวางตุ้งว่า "ลิว" เรื่อง "ภาษาไทย - ภาษาจีน" นี้ก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากเรื่องหนึ่ง เพราะคนไทยกับคนจีนที่อยู่ในเมืองไทยนี้ แทบจะแยกกันได้ยาก เพราะคนไทยส่วนมากก็มีเชื้อสายจีนอยู่บ้างไม่มากก็น้อย.
|