Back
จำอวด


การแสดงชนิดหนึ่งของไทยที่ในปัจจุบันหาดูได้ยากแล้ว นั่นก็คือ "จำอวด" ซึ่งพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. การแสดงเป็นหมู่โดยใช้ถ้อยคำชวนให้ตลกขบขัน."

ข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือ "ศิลปละคอนรำหรือคู่มือนาฏศิลปไทย" ของ นายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ได้พบคำว่า "จำอวด" ซึ่งได้อธิบายไว้ค่อนข้างละเอียด เห็นว่ามีประโยชน์มาก จึงขออนุญาตนำมาเสนอท่านผู้ฟังพอสมควรแก่เวลา ดังนี้

"จำอวด" คำนี้เข้าใจว่าเป็นพวกที่เล่นตลกเอกเทศ ไม่ต้องแสดงร่วมกับอะไร จำอวด เข้าใจว่าคงเลียนแบบวิธีแสดงมาจากสวดคฤหัสถ์นั่นเอง เพราะมีเป็นชุด ๔ คน อย่างเดียวกัน สวดคฤหัสถ์เล่นได้เพียงครึ่งตัว คือ นั่งเล่นเท่านั้น อย่างดีก็ลุกขึ้นคุกเข่า แต่มือต้องถือตาลปัตรไว้ด้วยเสมอ นาน ๆ จะมียืน ผู้ที่ยืนโดยมากเป็นตัวตลก (ตุ๊ย) จึงจะยืนได้ ส่วนจำอวดยืนเล่นได้ตลอดไป ชุดหนึ่งก็แบ่งหน้าที่เป็น ๔ เหมือนกับสวดคือ แม่คู่ ๑ คอสอง ๑ ภาษา ๑ ตลก (ตุ้ย) ๑ ชุดที่ขึ้นชื่อลือนามในยุคแรก ก็คือ ชุดเสมาทอง ซึ่งมีนาย เจริญ บุญยกลิ่น เป็นแม่คู่ นายตุ๋ย ชำนาญประดิษฐ์ เป็นคอสอง นายอบ บุญติด เป็นภาษา นายทิ้ง มานีมงคล เป็นตลก (ตุ๊ย) และมีนายฟ้อน คุ้มเดช เพิ่มจำนวนขึ้นอีกคนหนึ่ง ต่อมาจึงมีผู้หญิงเข้าร่วมเล่นอีก ๒ คน คือ นางชื่น เป็นตลก และนางพริ้ง เป็นภาษา ชุดนี้ดูเหมือนจะเคยเล่นสวดคฤหัสถ์มา เหมือนกัน อีกชุดหนึ่งเป็นชุดเด็ก แต่เดี๋ยวนี้เป็นผู้ใหญ่หมดแล้ว คือ ชุดสี่สมิง ชุดแรกมีนายเฉลิม บุณยเกียรติ เป็นแม่คู่ นายผล วรศริน เป็นคอสอง นายเริ่ม เรียนรอบกิจ เป็นภาษา นายสนิท เกษธนัง เป็นตลก (ตุ๊ย) ต่อมาเกิดมีชุดสี่สมิง เป็นชุดที่ ๒ อีกชุดหนึ่ง นายสนิท เกษธนัง เป็นหัวหน้าเหมือนกัน แต่เพิ่มผู้เล่นเกินกว่าสำหรับ ๔ คน คือมีนายจำรัส สุวคนธ์ นายขวัญ สุวรรณะ นายนาวา เฮงสมเกียรติ และ นายล้อม สุขะกสิกร กับมีผู้หญิงด้วย คือ เขียน ไกรสกุล เป็นตัวตลก และละม้าย มัฆวิบูลย์ เป็นนา

"วิธีเล่นจำอวด พอเริ่มเล่นเบิกโรง แม่คู่ออกมาก่อน กล่าวอารัมภกถาเล็กน้อย แล้วก็เรียกคอสองออกมาซักเป็นที่สอง แล้วเรียกภาษาออกมาเป็นอันดับสาม ตลกออกสุดท้าย การแสดงจัดเป็นชุด คล้ายสวดคฤหัสถ์ มีชุดจีน ชุดแขก ชุดญวน ชุดโขน ชุดละคอน ฯลฯ เล่นให้ได้ตลกจะลอยดอกออกไปอย่างไรก็ได้ แม่คู่ออกมา "ปูพื้น" คือพูดแนะช่องให้ตลก "หยิบ" คือเล่นสอดให้เข้าเรื่อง การแสดงของตลกหรือจำอวดต้องอาศัยการร่วมชุด (team-work) เป็นสำคัญ โขนโดยมากมักจับชุดนางลอย ใช้เบญกายตัวโต ๆ หนุมานตัวเล็ก ๆ พากย์ล้อ ๆ เล่น ๆ ลงท้ายเบญกายจับหนุมานไป ละคอนก็เรื่องรณจักร หรือ ไกรทอง เล่นตลกตอนแต่งตัวม้วนชายกระเบนพลางคุยไปพลางจนรัดตัวแน่น ผัดหน้าใช้แป้งโปะลงไปกับหน้าให้ดูเลอะ บอกบทซ้ำ ๆ บ่อย ๆ ต้นเสียงต้องรับตอบว่าได้ยินแล้ว ลูกคู่ ร้องทวนซ้ำอยู่ที่เดียว เหล่านี้เป็นตัวอย่าง ต่อมามีเล่นชุดหัดทหารใหม่ ชุดต่อกลอน ชุดส่งวิทยุ ชุดสั่งอาหารจีน ชุดดนตรีปาก ฯลฯ แล้วแต่คณะไหนถนัดอะไร ตามธรรมดามักมีดนตรีสลับเป็นดนตรีสากลบ้าง ดนตรีไทยบ้าง ก็มีฟ้อนหรือระบำไทย ซึ่งต่อมาสมัยนี้เรียกว่า "นาฏศิลป์" ถ้าเป็นดนตรีสากล ก็มีร้องเพลงไทยปัจจุบัน หรือเรียกว่า เพลงไทยสากลหรือเต้นรำระบำอย่างฝรั่งสลับ มาในขั้นหลัง ๆ นี้ คณะจำอวดมีผู้หญิงแสดงร่วมเพิ่มขึ้นอีก และผู้แสดงไม่จำกัดจำนวน อาจเป็นถึงขนาดละคอนโรงเล็ก ๆ เล่นเรื่องสั้น ๆ ก็ได้

"คำว่า "จำอวด" นี้ ต่อมานายสนิท เกษธนัง ได้ขอให้ข้าพเจ้า (คือ นายธนิต อยู่โพธิ์) คิดหาคำให้ใหม่ เพราะไม่ปรารถนาจะแสดงอย่างจำอวด เกรงจะถูกเหยียดหยาม จึงได้คิดตั้งชื่อให้ใหม่ว่า "ละคอนย่อย" ซึ่งเคยใช้เรียกเป็นทางการของวิทยุกระจายเสียงเป็นเริ่มต้น จำอวดจึงกลายสภาพเป็นละคอนย่อยมาจนทุกวันนี้

"การแต่งกายของจำอวดสมัยก่อน ใช้นุ่งผ้าม่วงสี โดยมากเป็นผ้าม่วงเซี่ยงไฮ้ วิธีนุ่งมีแปลกกว่านุ่งผ้าธรรมดา คือ แลบชายมุมบนตอนข้างหน้าที่จะม้วนเป็นชายกระเบนไว้หน่อยหนึ่ง เมื่อม้วนและโจงกระเบนแล้ว ก็แผ่ชายผ้ามุมบนที่เหลือไว้นั้นให้เป็นปีกออกไปคล้าย ๆ ชายไหวชายแครง ต้องยกปีกผ้านุ่งให้กาง สวมเสื้อแพรสี เนื้อดี คอพวงมาลัย คาดผ้าคาดพุงแพรหรือไหม ต้องผัดหน้าให้ค่อนข้างขาว แต่งคิ้วแต่งปากนิดหน่อย แต่ไม่ถึงละคอน ไว้ผมยาวอย่างที่เรียกว่า ผมนัด แปลว่า กระไรไม่ทราบ ใส่น้ำมันหวีเรียบ แต่งเครื่องประดับที่เป็นเพชรทองมาก ๆ เช่น นาฬิกาข้อมือสายทอง เรือนทอง แหวนเพชร สร้อยคอสร้อยข้อมือทองคำ กิริยาอาการที่ติดจนเป็นนิสัยของพวกจำอวด เวลาออกโรงแสดง คือมักใช้มือทั้งสอง จัดกลีบผ้านุ่งข้างหลัง ดึงแขนเสื้อขึ้นไปหาหัวไหล่ เสยผม ท้าวสะเอว จำอวดเป็นมหรสพที่นิยมกันมากในยุคหนึ่ง ซึ่งทุกงานที่สำคัญจะขาดไม่ได้ คือ ในสมัยปลายรัชกาลที่ ๖ กับต้นรัชกาลที่ ๗ จำอวดคณะเสมาทองเคยได้รับพระราชทานเสมาอักษรพระปรมาภิไธยย่อ ป.ป.ร. ทองคำจากพระราชหัตถ์ในหลวงรัชกาลที่ ๗ เพราะได้เคยแสดงถวายบำเรอพระยุคลบาท จึงให้ชื่อคณะว่า "คณะเสมาทอง"

"การแสดงของจำอวดหรือตลกของไทยเรา มีความสำคัญอยู่ที่ว่าต้องแสดงหลักไปทางหยาบโลนเป็นพื้นอย่างดีก็ใช้คำพูดชนิดที่เรียกกันว่า "สองง่าม" ต่อมาในสมัยนี้ มีจำอวดบางคนชอบใช้วาทะโวหารให้ไพเราะเรียกกันว่า "คำคม" อยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่วายมีหยาบโลนแกมอยู่นั่นเอง จำอวดหรือตลกเป็นศิลปะชนิดหนึ่ง ซึ่งควรที่จะรักษาไว้เป็นแบบฉบับของไทยเราต่อไป อย่าให้เสื่อมสูญเสียได้ จะได้ชื่อว่าเป็นการรักษาทรัพย์อันมีค่าของชาติไว้ส่วนหนึ่งด้วย"


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๓๐ ธันวาคม๒๕๓๔
Back