Back
พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์
กับอัจฉริยลักษณะของภาษาไทย


เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ เป็นวันครบรอบ ๑๐๐ ปีประสูติ ของพลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ อดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน ทางรัฐบาลไทยได้จัดให้มีการเฉลิมฉลองเป็นพิเศษ โดยได้ทำพิธีเปิดงานที่ห้องบัวแก้ว กระทรวงการต่างประเทศ วังสราญรมย์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดงานเมื่อเวลา ๑๖.๓๐ น.

พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงเป็นปฐมนายกราชบัณฑิตยสถาน และทรงเป็นผู้จุดดวงประทีปแห่งราชบัณฑิตยสถานให้ลุกโพลงทางด้านวิชาการนับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๖ ซึ่งเป็นปีที่รัฐบาลซึ่งมีนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี และ สภาผู้แทนราษฎร ได้ร่วมกันออกพระราชบัญญัติว่าด้วยราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๗๖ ขึ้น

พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงเป็นทั้งนักปราชญ์และนักการทูตที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลก แม้พระองค์จะได้เสด็จไปศึกษาในประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ยังทรงมีพระชนม์เพียง ๑๔ พรรษา แต่ก็ทรงมีความรู้ด้านภาษาไทยแตกฉานมาก ดังจะเห็นได้จากปาฐกถาเกี่ยวกับภาษาไทยที่พระองค์ทรงแสดงหลายครั้งหลายหน เช่น เรื่อง "สยามพากย์" ที่ทรงแสดง ณ สามัคยาจารย์สโมสรสถาน เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ หรือปาฐกถาเรื่อง "ข้อควรคิดในภาษาไทย" ที่ทรงแสดง ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๒ ฯลฯ

ในปาฐกถา ๒ เรื่องที่ข้าพเจ้ายกมานี้ จะขอนำบางส่วนที่แสดงให้เห็น "อัจฉริยลักษณะของภาษาไทย" (genius of the language) ตามที่พระองค์ท่านได้ทรงบัญญัติคำนี้ขึ้น เช่น ในปาฐกถา เรื่อง "สยามพากย์" มีข้อความตอนหนึ่งดังนี้

"คำว่า "ภาษา" นั้นกินความกว้าง เช่นเดียวกับคำว่า language คือหมายความถึงวิธีแสดงความหมายที่มิใช่ภาษาพูดก็ได้ อย่างเช่น "ภาษาใบ้" ฉะนี้ เราพูดได้ดี คือหมายความถึงวิธีแสดงความหมายโดยใช้กิริยาท่าทางหรือใช้นิ้วมือเป็นเครื่องแสดงความหมาย การรำละครของเรา ก็เป็นภาษาชนิดนี้เหมือน กัน และวิธีเขียนลายลักษณ์ ที่เป็นเหมือนหนึ่งว่า ถ่ายภาพของสิ่งที่หมาย เช่น ในภาษาจีน ก็เป็นภาษาชนิดนี้ด้วยดุจกัน ภาษาอย่างนี้ อาศัยนัยน์ตาเป็นเครื่องรับ จึงได้ชื่อว่า Eye Language หรือที่ข้าพเจ้าเรียกว่า "จักษุภาษา" ซึ่งบางท่านอาจค้านว่า หมายความถึงภาษาเล่นตา แต่ภาษาเล่นตาก็สงเคราะห์เข้าใน Eye Language เพราะอาศัยนัยน์ตาเป็นเครื่องรับเหมือนกัน เพราะฉะนั้น คำว่า "จักษุภาษา" ก็เห็นจะพอไปได้

"จักษุภาษานี้ เป็นภาษาที่ใช้กันมาแต่ดั้งเดิม และแม้ในบัดนี้ก็ย่อมใช้เป็นเครื่องประกอบ เช่น ในการโต้วาทีเป็นต้น ผู้ด้อยปัญญาและอ่อนคารม เช่น ท่านวรรณฯ ก็ย่อมต้องใช้อุปกรณ์เช่นนี้ เพื่อหาคะแนนมติสนับสนุน แม้ถึงว่าจะเสี่ยงภัยในการถูกติเพียงใดก็ตาม แต่จักษุภาษามีอุปสรรคอยู่อย่างหนึ่งว่า ถ้าไม่มีแสงสว่างแล้วเป็นอันใช้ไม่ได้ เพราะแลไม่เห็นสัญญาณเครื่องหมายที่ส่งมา และในสมัยคนป่านั้น แม้จะมีไฟฟ้า ก็เป็นแต่เพียงชนิดฟ้าแลบ ฟ้าผ่า เพราะฉะนั้น จึงไม่เป็นประโยชน์ในการส่งภาษาในเวลากลางคืน

"คนป่าจึงก่อกำเนิดภาษาอีกชนิดหนึ่งขึ้น ภาษาพูด หรือ พากย์ (Speech or tongue) ซึ่งใช้เสียงที่เปล่งออกมาชัดแจ้งนั้นเป็นอุปกรณ์เครื่องหมาย ภาษาชนิดนี้ย่อมอาศัยหูเป็นเครื่องรับ จึงได้ชื่อว่า Ear Language หรือที่ข้าพเจ้าเรียกว่า "โสตภาษา" พากย์หรือโสตภาษานี้อาศัยเสียงเป็นเกณฑ์ และถ่ายลงเป็นตัวเขียนก็มีความมุ่งหมายที่จะถ่ายเสียงไว้เป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นจึงใช้ตัว "อักษร" ซึ่งตามศัพท์แปลว่า ตัวที่ไม่สิ้นสูญ ถือเป็นตัวแทนเสียงที่ไม่สิ้นสูญ ความข้อนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงอธิบายไว้แล้วในบาลีไวยากรณ์อักขรวิธี มีสรุปพระกระแสว่า "เสียงก็ดี ตัวหนังสือก็ดี ชื่อว่าอักขระแปลว่าไม่รู้จักสิ้นอย่าง ๑ ไม่เป็นของแข็งอย่าง ๑" ส่วนข้อที่ว่า ไม่เป็นของแข็งนั้น ข้าพเจ้าไม่ได้เก็บความ เพราะว่า ถ้าจะกินความถึงเพียงนั้นแล้ว บาลีจะต้องใช้คำว่า "อักขระ" ซึ่งแปลว่า ไม่แข็ง ไม่กระด้าง แต่สันสกฤตใช้ว่า "อักษระ" ซึ่งตีความได้ทางเดียวว่า ไม่สิ้นสูญ

"การที่ถือเสียงเป็นเกณฑ์นี้เป็นข้อสำคัญมากในภาษา และตามแบบภาษาไทยของเราที่มีมาแต่กาลก่อน ก็นิยมเสียงและความไพเราะของเสียงเป็นสำคัญและเมื่อถ่ายคำมาใช้จากภาษาอื่น ก็ได้ดัดแปลงสำเนียงให้เข้ารูปเสียงแห่งภาษาไทย ดังที่เรียกกันว่าบาลีแผลง ฉะนั้น เช่นคำว่า "ปรกติ" เป็นต้น สันสกฤต ใช้ว่า "ประกฤติ" บาลีใช้ว่า "ปะกะติ" ไทยเราไม่ชอบตัว ร เท่าชาวภาษา สันสกฤต และเราชอบเอาตัว ร กล้ำ หรือกลั้วเข้ากับตัว ป หรือตัว ก เป็นอาทิ ครั้นจะอ่านว่า ปักะติ หรือ ปกกะติ ไทยเห็นว่าไม่เพราะ จึงเอาครึ่ง ๆ กลาง ๆ หรือตามที่โบราณเรียกว่าบาลีแผลง ว่า "ปรกติ" ดังนี้ เป็นอันต้องด้วยหลักนิยมแห่งภาษาศาสตร์อยู่แล้ว และถ้ายิ่งถือตามพระกระแสรับสั่งของสมเด็จพระมหาสมณะที่ว่า อักษร เป็นเสียงที่ไม่แข็งกระด้างด้วยแล้ว ก็ยิ่งเห็นหลักตระหนักยิ่งขึ้นว่า ในการถ่ายคำจากภาษาหนึ่งมาอีกภาษาหนึ่งนั้นจะต้องดัดแปลงสำเนียงให้แนบเนียนเสียก่อน หาใช่ถ่ายมาโดยตรงตามรูปเดิมไม่ นี่เป็นหลักที่เห็นได้จากทุกภาษาซึ่งยืมคำจากกันและกัน"

นี่เป็นเพียงตอนหนึ่งแห่งปาฐกถาเรื่อง "สยามพากย์" เท่านั้น ท่านผู้ฟังก็จะได้เห็นว่าพลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ทรงเป็นปราชญ์ไม่เพียงทางด้านการทูตเท่านั้น หากทางด้านภาษาศาสตร์และอักษรศาสตร์อีกด้วย.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๒๘สิงหาคม๒๕๓๔
Back