ภาษาไทยนับว่าเป็นภาษาที่มีอัจฉริยลักษณะของตัวเองอย่างน่าพิศวง
ยิ่งเราศึกษาภาษาไทยมากเท่าใด เราก็จะรู้สึกซาบซึ้งและรักภาษาไทยมากขึ้นเท่านั้น
เมื่อคนรักภาษาไทยมีมากขึ้น ความหวงแหนภาษาไทยก็จะมีมากเป็นเงาตามตัว
เมื่อได้เห็นการพูดการเขียนภาษาไทยที่ผิดรูปแบบของภาษาไทยก็มักไม่พอใจ
บางทีก็แสดงอาการคัดค้านอย่างไม่เกรงอกเกรงใจใคร ภาษาไทยเป็นภาษาที่ปรับตัวเข้ากับภาษาของชาติอื่น
ๆ ได้ง่าย โดยไม่ต้องเสียอัจฉริยลักษณะของภาษาไทยก็มี
เมื่อเร็ว
ๆ นี้ ท่านนายกราชบัณฑิตยสถาน ได้รับหนังสือลงวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ.
๒๕๓๖ ของคุณ "แก้ว แกมกาญจน์" แห่ง ๕๖/๒ หมู่ ๔ ต.สระพัง อ.เขาย้อย
จ.เพชรบุรี ๗๖๑๔๐ เรื่อง การแก้ไขคำภาษาไทยที่แปลมาจากภาษาอังกฤษ มีข้อความดังนี้
"ด้วยในปัจจุบันนี้มีผู้ใช้ภาษาไทยที่แปลจากภาษาอังกฤษมากขึ้น
โดยเฉพาะสื่อมวลชน เช่น โทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ คำที่พบเป็นประจำคือ
นำเข้า นำออก (หรือ ส่งเข้า ส่งออก) และส่งกลับ เช่น นำเข้าข้าว ส่งออกเครื่องหนัง
และส่งกลับผู้อพยพ เป็นต้น คำเหล่านี้ในภาษาอังกฤษ เป็นคำที่มี prefix
คือ ex หรือ im นำหน้า ซึ่งเมื่อนำมาใช้จะแยก prefix ออกมาไม่ได้ เช่น
rice export เป็นตัวอย่าง แต่คำไทย คำว่า นำ - เข้า เช่น นำข้าวเข้า
และส่งผู้อพยพกลับ แต่การที่สื่อมวลชนใช้คำดังกล่าวข้างต้นให้ได้ยินทุกวัน
จึงทำให้สงสัยว่าราชบัณฑิตยสถานยอมรับแล้วใช่หรือไม่ และถ้าหากยังมิได้ยอมรับ
จะแก้ไขอย่างไร เพราะถ้าหากปล่อยไว้ก็เท่ากับยอมให้ภาษาอื่นมาทำลายเอกลักษณ์ของภาษาไทย
หรือยอมอยู่ใต้อิทธิพลของภาษาอื่น ซึ่งเห็นว่าไม่สมควรอย่างยิ่ง
จึงเรียนถามและหารือมา
หากราชบัณฑิตยสถานยอมรับหรือไม่อย่างไร จะกรุณาตอบให้ทราบด้วย ก็จะเป็นพระคุณยิ่ง"
ท่านนายกราชบัณฑิตยสถาน
(ศาสตราจารย์ ดร.บุญพฤกษ์ จาฏามระ) ได้ส่งเรื่องนี้ให้คณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย
ซึ่งมีศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร เป็นประธานเพื่อพิจารณา
ที่ประชุมได้ปรึกษาหารือกันแล้ว
ได้มีมติว่า "นำเข้า" และ "นำออก" นั้นเป็นคำที่บัญญัติใช้แทนคำว่า
import และ export ในภาษาอังกฤษ ซึ่งใช้เป็นได้ทั้งคำนามและคำกริยา ถ้าเป็นคำนามก็ใช้ว่า
"การนำเข้า" และ "การส่งออก" สมัยก่อนนั้นก่อนก็จะพูดว่า
"นำสินค้าเข้า" และ "ส่งสินค้าออก" คือจะนำอะไรเข้าหรือส่งอะไรออก
ก็แทรกคำนั้นซึ่งเป็นกรรมลงระหว่าง "นำ" กับ "เข้า"
และระหว่าง "ส่ง" กับ "ออก" แต่เพราะความรู้เกี่ยวกับภาษาไทยของคนไทยในปัจจุบันอ่อนลงมาก
คือเพียงพูดไทยได้ และเขียนไทยได้ เท่านั้น แต่ยังพูดไทยไม่เป็น เขียนไทยไม่เป็น
ภาษาไทยจึงกลายเป็นภาษาที่มีความวิบัติมากขึ้นทุกวัน ที่ประชุมจึงมีมติว่าไม่ยอมรับสำนวนที่ว่า
"นำเข้าข้าว" หรือ "ส่งออกเครื่องหนัง" นั้น เป็นภาษาไทยที่ถูกต้อง
แต่ ราชบัณฑิตยสถานก็ไม่มีอำนาจที่จะไปบังคับให้ใครใช้อย่างไรได้ แม้แต่คำในพจนานุกรม
ฉบับราชบัณฑิตยสถานเอง แม้จะมี "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี"
ให้ทางราชการและโรงเรียนถือเป็นแบบฉบับในการเขียนอยู่แล้ว ก็ยังปรากฏว่ามีเขียนกันผิด
ๆ ออกเสียง ผิด ๆ อยู่มาก แม้แต่ครูอาจารย์ที่เขียนตำราส่งไปให้ อกค.
พิจารณาเพื่อเลื่อนวิทยฐานะหรือตำแหน่งนั้น ก็ปรากฏว่ามีผิดพลาดอยู่มาก
ข้าพเจ้าได้เคยทักท้วงออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
มาตั้งแต่เริ่มใช้ภาษาวิบัติเหล่านี้แล้ว แต่ก็ไม่ได้ผล เพราะทางกระทรวงพาณิชย์
ที่เขียนข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้เอง เป็นต้นตอที่ใช้ภาษาผิด ๆ ในเรื่องการสั่งสินค้าเข้าและการส่งสินค้าออก
ซึ่งถือว่าเป็นภาษาราชการ คนทั่ว ๆ ไปก็คิดว่าถูก เลยใช้ตามไปด้วย ข้าพเจ้าเคยกล่าวว่าอีกหน่อยก็คงจะต้องเขียนว่า
"เตะออกฟุตบอล" แทนที่จะ "เตะฟุตบอลออก" และเดี๋ยวนี้ก็มีใช้กันอยู่มากแล้ว
ไม่เฉพาะกับการนำสินค้าเข้าและส่งสินค้าออกเท่านั้น เช่น ส่งกลับผู้อพยพ
ดังที่คุณแก้ว แกมกาญจน์ แจ้งไปยังราชบัณฑิตยสถาน
บางคนก็บอกว่าที่ทางราชการใช้ว่า
"ส่งออกข้าว" ก็ดีแล้ว เพราะถ้าส่งสินค้าออกหลายชนิดแล้วไปเติม
"ออก" ไว้ท้ายสุดมันก็จะห่างไป เช่น "ส่งข้าว" ดีบุก
เครื่องแต่งกาย ออก..." อย่างนี้สู้ "ส่งออก ข้าว ดีบุก เครื่องแต่งกาย..."
ไม่ได้ ข้าพเจ้าได้เคยชี้แจงให้นิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยหลายแห่งทราบว่า
ในกรณีที่ต้องส่งสินค้าหลาย ๆ อย่างออก หรือนำสินค้าหลาย ๆ อย่างเข้ามา
ถ้าเราจะเขียนว่า "ส่งออก" หรือ "นำเข้า" ติดกัน
โดยไม่แยกคำจะทำอย่างไร ข้าพเจ้าก็บอกว่าครูอาจารย์เก่า ๆ ท่านสอนไว้ว่า
ในกรณีเช่นนั้น ก็ควรเติมคำว่า "ซึ่ง" ต่อจาก "เข้า"
และ "ออก" ได้ เช่น "ส่งออกซึ่งข้าว ดีบุก เครื่องแต่งกาย...
ไปยังประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรป" หรือ "นำเข้าซึ่งเครื่องจักร
เครื่องกล ยารักษาโรค...จากทวีปยุโรป" ข้าพเจ้าจึงขอเสนอมาเพื่อช่วยกันพิจารณาในเรื่องการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องต่อไป.