ในการไปร่วมประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาคำของโฆษณาอาหารและยาที่กระทรวงสาธารณสุข
มีอยู่บ่อย ๆ ที่ คณะอนุกรรมการไม่อนุญาตหรือบางทีก็ให้ไปปรับปรุงแก้ไขมาใหม่
มีหลายคนสงสัยว่าภาษาอย่างไรที่คณะอนุกรรมการฯ ไม่อนุญาต
คำโฆษณาอาหารจะแต่งเป็นเพลงก็ได้ แต่คำขอโฆษณา คณะอนุกรรมการฯ ไม่อนุญาตให้ใช้ภาษาโฆษณาที่เป็นเพลง
แต่เพลงบางบทก็คล้าย ๆ ปากกาจะพาไป ผู้แต่งคงไม่ได้คิดอะไรมาก อย่างเช่น
เพลงโฆษณาของ "ไทยชูรส" ที่ว่า
"นิสัยเราชาวไทย ว่ากินง่ายอยู่ง่าย จับจ่ายด้วยบัตรยุคพัฒนา
ชอบฝากซื้อฝากติด
ชอบสนิทกันด้วยใจ ไปมายกมือไหว้ ญาติมากมายเรื่องธรรมดา
ปลายจวักคนไทย
ไม่มีชาติไหนเทียบติด ของนอกหรือจะสู้ไทยผลิต
เหยาะไทยชูรสสักนิด
ตราชฎา กินอยู่อย่างไทย เปรี้ยวหวานเผ็ดไป สบายอุรา
กุ้งหอยปูปลา
ปรุงไทยชูรส ตราชฎา"
อ่านดูแล้วจะเห็นว่าเป็นกลอนลิเกเสียมาก จะพิจารณาในด้านฉันทลักษณ์ก็ไม่ถูกต้อง
แต่ข้อสำคัญก็คือ เพลงอย่างนี้ ถ้าอนุญาตออกไปแล้ว จะทำให้เข้าใจว่าคณะอนุกรรมการพิจารณาคำขอโฆษณาอาหารและยา
ยอมรับว่าคนไทยมี "นิสัย กินง่ายอยู่ง่าย จับจ่ายด้วยบัตรยุคพัฒนา
ชอบฝากซื้อฝากติด ชอบสนิทกันด้วยใจ..." ทั้งนี้เพราะคนไทยโดยทั่ว
ๆ ไปไม่รู้จักบัตรยุคพัฒนาด้วยซ้ำไป การใช้บัตรยุคพัฒนานั้นเป็นเรื่องของคนเมืองหลวง
และก็เป็นคนส่วนน้อยด้วย นอกจากนั้นจะต้องยอมรับว่าคนไทยมีนิสัย "ชอบฝากซื้อ
ฝากติด" คือสั่งซื้อแต่ไม่จ่ายเงิน ได้ของมาแล้วก็ยังไม่ยอมจ่าย
การโฆษณาอย่างนี้เป็นการทำให้ภาพลักษณ์ของคนไทยเสียหาย คณะอนุกรรมการฯ
จึงไม่อนุญาต และก็ได้ช่วยปรับปรุงแก้ไขให้บ้างตามแต่จะเห็นสมควร แล้วก็แจ้งไปให้ทางบริษัททราบว่าจะเอาไหม
ถ้าไม่เห็นด้วย ก็เขียนขอมาใหม่
อีกรายหนึ่งเป็นคำโฆษณาของ "น้ำรสส้ม กรีนสปอต" ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความหวัง
แต่บางทีก็รุกล้ำเข้าไปในเรื่องที่ไม่เหมาะสม เช่น ขอโฆษณาว่า
อื้อ...
หวังอยากเห็นภาพสวย
ๆ งาม ๆ นะตอนนี้
หวังให้ถนนเต็มไปด้วยดอกไม้
อื้อ
แล้วก็หวัง...หวัง...หวัง...อื้อม์
กรีนสปอต
สดชื่น
สมหวัง
หวังได้วาดความสวยให้ผู้คน
ว้าว...
หวังให้ถนนเต็มไปด้วยดอกไม้
หวังให้พจนานุกรมไม่มีคำว่า
"มลพิษ"
หวังให้ชีวิตมีแต่เรื่องขบขัน
หวังให้ทุกวัน
ผู้คนสดชื่น
แล้วก็หวัง....หวัง....หวัง....อื้อม์
กรีนสปอต
สดชื่น
สมหวัง"
คำโฆษณาอย่างนี้ ทำไมจะต้องยุ่งเกี่ยวกับ "พจนานุกรม" ด้วย
เพราะคณะกรรมการชำระพจนานุกรมมีหน้าที่เก็บคำที่มีใช้ทั้งหมดที่สังคมยอมรับแล้วและไม่ขัดกับหลักภาษาหรือศีลธรรมของประชาชน
คำว่า "มลพิษ" ก็เป็นคำหนึ่งที่ใช้กันแพร่หลาย และบางทีก็ใช้กันไม่ค่อยถูก
คณะกรรมการชำระพจนานุกรมจึงได้เก็บไว้ มิฉะนั้น คนก็จะนำไปใช้สับสนปนเปกับคำว่า
"มล--ภาวะ" ซึ่งพจนานุกรมยังมิได้เก็บไว้ แต่หากจะแก้คำโฆษณาตอนนั้นเป็น
"หวังให้ถนนเต็มไปด้วยดอกไม้ หวังให้เมืองไทยไร้มลพิษ" หรืออะไรในทำนองนี้
คณะอนุกรรมการฯ ก็คงจะอนุญาต
อีกเรื่องหนึ่งเป็นคำขอโฆษณา "นมสดยูเอซที ตราไทย - เดนมาร์ค"
ซึ่งมีข้อความว่า
"มา
มา มะ ขอดื่มนมหน่อย
สด
สด จากไทย - เดนมาร์ค
นมสดไทย
- เดนมาร์ค นมจากเต้า"
แต่รูปประกอบเป็นกล่องนม ถ้าเป็นนมกล่องจะดื่มไม่ได้ ต้องใช้ดูดเท่านั้น
คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาเห็นว่าถ้าหากจะใช้คำว่า "ขอดูดนมหน่อย"
เพื่อให้เข้ากับภาพประกอบ ก็จะไม่เหมาะสม จึงเสนอว่า ข้างกล่องนม น่าจะมีแก้วนมซึ่งมีนมเทออกมาจากกล่องด้วย
จึงจะเข้ากันกับข้อความที่ว่า "ขอดื่มนมหน่อย"
นี่ก็เป็นเพียงตัวอย่างของคำขอโฆษณาที่คณะอนุกรรมการพิจารณาคำขอโฆษณาอาหารและยาได้พิจารณากันอย่างระมัดระวัง
อะไรที่เห็นว่าควรจะปรับปรุงแก้ไขได้ ก็แจ้งให้เจ้าของนำไปปรับปรุงแก้ไขใหม่
เพราะถ้าอนุญาตให้ออกไปโดยไม่พินิจพิเคราะห์ให้ดี ก็จะถูกประชาชนตำหนิว่าคณะอนุกรรมการฯ
ปล่อยปละละเลยในด้านภาษา ทำให้เกิดภาษาวิบัติบ้าง ภาษาที่ไม่เหมาะสมบ้าง
เป็นต้น.