Back
สตางค์ - ทศางค์


มีอาจารย์ท่านหนึ่งได้ถามข้าพเจ้าว่า ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตย-- สถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ นั้น มีคำว่า "ทศางค์" อยู่ ซึ่งพจนานุกรมได้ให้บทนิยามไว้ว่า "น. มาตราวัดน้ำฝน เท่ากับ ๑๐ สตางค์ เป็น ๑ ทศางค์, และ ๑๐ ทศางค์ เป็น ๑ นิ้ว." และเมื่อเปิดดูที่คำว่า "สตางค์" ก็ให้บทนิยามไว้ว่า "น. เหรียญกระษาปณ์ปลีกย่อย ๑๐๐ สตางค์ เป็น ๑ บาท." ไม่เห็นเกี่ยวกับมาตราวัดน้ำฝนเลย

ข้าพเจ้าได้เปิดดู "ตำนานการวัดตวงชั่ง" ของท่านอาจารย์ขุนวิจิตรมาตรา ซึ่งท่านได้เขียนลงในวารสารจันทรเกษม (จัน - กะ เสม) ฉบับที่ ๑๓๒ ประจำเดือน กันยายน - ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ก็ได้พบเรื่อง "มาตราวัดน้ำฝน" พอดี ท่านได้เขียนไว้ดังนี้

"มาตราวัดน้ำฝน
๑๐ สตางค์ = ๑ ทศางค์
๑๐ ทศางค์ = ๑ นิ้ว

มาตรานี้บัญญัติขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ เข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงบัญญัติคำว่า "ทศางค์" ขึ้นก่อน คือแบ่งนิ้วไทย ออกเป็น ๑๐ ส่วน สำหรับวัดน้ำฝนให้ละเอียด ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๐๐ สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย ส่งเครื่องรองน้ำฝนมาถวายเป็นราชบรรณาการ เครื่องนี้แบ่งนิ้ว (อังกฤษ) ออกเป็น ๑๐๐ ส่วน นับว่าละเอียดมาก จึงทรงบัญญัติชื่อส่วนหนึ่งใน ๑๐๐ ของนิ้วนั้นให้เรียกว่า "สตางค์" ๑๐ สตางค์ให้เท่ากับ "ทศางค์" ๑๐ ทศางค์เป็นนิ้วหนึ่งตามที่ทรงบัญญัติไว้เดิม"

ข้าพเจ้าจึงได้เปิดดูหนังสือ "ประกาศรัชกาลที่ ๔" ซึ่งตีพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระมหาโพธิวงศาจารย์ อินทโชตเถระ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๑ ก็พบประกาศฉบับที่ ๓๓๗ เรื่อง "ประกาศว่าด้วยเครื่องรองน้ำฝนอย่างยุโรป" มีข้อความดังนี้

"ท่านทั้งหลายจงทราบเถิดว่า เมื่อเดินอ้ายปีมะเส็ง นพศก เซอรอ เบิดสจอมเบิกกงสุลอังกฤษคนใหม่ สมเด็จพระนางกวินวิกตอเรียพระเจ้ากรุงลอนดอน ตั้งให้เข้ามากำกับลูกค้าฝ่ายอังกฤษอยู่ในกรุงเทพฯ นี้ เมื่อกงสุลคนนี้มานั้น กวินวิกตอเรียพระเจ้ากรุงลอนดอน ได้มอบให้คุมพระราชสาส์น และเครื่องมงคลราชบรรณาการเข้ามาทูลเกล้าฯ แด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย ในเครื่องราชบรรณาการจำพวกนี้ มีเครื่องรองน้ำฝนวัดประมาณรู้ว่าน้ำฝนตกลงจะมากน้อยเท่าใด จะรู้ได้โดยละเอียดกว่าเครื่องมือที่จัดแจงไว้ใช้มาแต่ก่อน คือ นิ้วอย่างอังกฤษนิ้วหนึ่ง แบ่งผ่อนปรนให้เห็นได้ถึงร้อยส่วน เครื่องมือนี้ดีมาก แต่ว่าคนที่รองน้ำฝนแต่ก่อน สันดานไพร่หยาบคายเลวนัก รู้จักแต่จะหุงข้าวต้มแกง ตำน้ำพริก กินข้าวแล้วเกียจคร้านที่จะล้างมือและหาผ้าเช็ดปาก เอาเช็ดหัวตัวเองไม่รู้จักดูแลใช้ของดี ๆ เลย ไกลนักหนาแต่ความรู้ละเอียด เพราะฉะนั้นก่อนนี้ไปด้วยเครื่องมือนั้นหาได้ความเป็นแน่ไม่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ยังไม่ได้ทรงพิจารณาสังเกตทราบโดยถนัด พึ่งได้ทรงตั้งแต่วันจันทร์ เดือน ๖ แรม ๖ ค่ำ มาได้ความเป็นแน่ถนัดแล้ว แต่ครั้นจะโปรดให้ลงพิมพ์หนังสือข่าวบอกมา โดยกำหนดนิ้วอย่างอังกฤษตามเครื่องมือ คนไทยทั้งปวงเคยสังเกตแต่นิ้วอย่างไทย ก็จะไม่เข้าใจ จึงทรงคำนวณเป็นขนาดนิ้วอย่างไทย คือ เจ็ดเม็ดข้าวเปลือกตะแคงเป็นนิ้วหนึ่ง แต่จะแบ่งเป็นสี่กระเบียดหรือแปดกระเบียดอย่างนิ้วไทยนั้นหยาบนัก ฝนตกน้อยไม่ถึงกระเบียดก็ไม่มีจำนวนจดบัญชีไว้ ก็เสียเศษไปทุกเวลาฝนตกอย่างเก่า จึงได้แบ่งนิ้วหนึ่งเป็นสิบกระเบียด เรียกว่า ทศางค์ ก็ยังว่าไม่ได้น้ำ เครื่องมือที่มาแต่เมืองอังกฤษใหม่นี้ แบ่งนิ้วหนึ่งได้ถึง ๑๐๐ ส่วน เรียกว่า สตางค์ สิบสตางค์ จึงเป็น ทศางค์ สิบทศางค์ จึงเป็นนิ้วให้รู้เถิด จำชื่อไว้ให้แน่ เทอญ."

คำว่า "ทสางค์ ในประกาศรัชกาลที่ ๔ นั้นใช้ "ทส" ในรูปบาลี แต่ในพจนานุกรมใช้ "ทศางค์" เป็นรูปสันสกฤต ซึ่งก็ถูกทั้งคู่ ในที่นี้หมายถึง ๑ ใน ๑๐ ของนิ้ว "สตางค์" ก็หมายถึง ๑ ใน ๑๐๐ ของนิ้ว แต่ถ้าเป็นเงินตรา "สตางค์" ก็เป็น ๑ ใน ๑๐๐ ของบาท พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานควรจะให้บทนิยามของคำว่า "สตางค์" เพิ่มเติม ให้รับกับคำว่า "ทศางค์" โดยเพิ่มว่า "มาตราวัดน้ำฝน เท่ากับ ๑๐๐ สตางค์เป็น ๑ นิ้ว หรือ ๑๐ สตางค์เป็น ๑ ทศางค์."



จำนงค์ ทองประเสริฐ
๒๐ ธันวาคม๒๕๓๖
Back