แหวนนพเก้า
|
ในการประชุมกรรมการชำระพจนานุกรมแห่งราชบัณฑิตยสถาน คราวหนึ่งเราได้พูดกันถึงเรื่อง "นพรัตน์" และ "แหวนนพเก้า" ซึ่งตามศัพท์แล้ว "นพ" ซึ่งมาจากคำบาลีว่า "นว" ก็แปลว่า "เก้า" อยู่แล้ว ทำไมจึงต้องพูดซ้ำเป็น "นพเก้า" ด้วยทั้งนี้ก็เพราะคำว่า "นพ" ซึ่งแผลงมาจาก "นว" อาจแปลว่า "ใหม่" ก็ได้ คำว่า "นพเก้า" พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. ชื่อแหวนฝังพลอย ๙ อย่าง ทำเป็นยอดก็มี ฝังรอบวงแหวนก็มี สำหรับสวมในการมงคล; ... ". และที่คำว่า "นพรัตน์" พจนานุกรม ได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. แก้ว ๙ อย่าง คือ เพชร ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน นิล มุกดา เพทาย ไพฑูรย์, นวรัตน์ หรือ เนาวรัตน์ ก็ว่า." เมื่อเร็ว ๆ นี้ ข้าพเจ้าได้ไปที่หอสมุดแห่งชาติ และได้ซื้อหนังสือที่พิมพ์แจกในงานศพมาหลายเล่ม มีอยู่เล่มหนึ่ง คือ "ประชุมพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๔ ภาคปกิณกะ ภาค ๑" ในนั้นมีเรื่องที่น่าสนใจอยู่หลายเรื่อง เรื่องหนึ่งก็คือ "เรื่องแหวนนพเก้า" เห็นว่าเป็นเรื่องที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง จึงขออัญเชิญพระ ราชนิพนธ์เรื่องนี้มาเสนอท่านผู้ฟังต่อไปดังนี้ "จดหมายกำหนดว่าด้วยเครื่องประดับสำหรับยศในสยาม ธรรมเนียมเดิมฝ่ายสยาม มีเครื่องประดับยศอย่างใหญ่ในพระเจ้าแผ่นดินที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และพระราชวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่อยู่อย่างหนึ่งเห็นชอบกลอยู่ที่ว่าพอละเมียดสมควร แม้นจะส่งไปแสดงความยินดีและราชไมตรี เป็นเกียรติยศแด่พระเจ้าแผ่นดินและพระราชวงศานุวงศ์ ผู้ใหญ่และเสนาบดีผู้ใหญ่ในบ้านอื่นเมืองอื่น ให้ยินดีรับเป็นเครื่องราชอิสริยยศ และเครื่องสำคัญยศเป็นที่อ้างว่าได้ไปจากพระเจ้าแผ่นดินฝ่ายสยาม ก็พอจะใช้ไปได้ไม่ขัดตาแปลกตานัก อันนี้มีธรรมเนียมในสยามมาแต่เดิมว่า ให้มีวงแหวนทองคำเป็นทองเนื้อสูงอย่างเอก คือ ทองแร่บางตะพานก็ดี หรือทองที่หุงชำระจนสิ้นมือก็ดี เป็นอย่างเอกอย่างดี หนักกึ่งตำลึงบ้าง สิบสลึงบ้าง สามบาทบ้าง ทำทั้งแท่ง ไม่โพรงใน ตีให้แน่นดีแล้วขุดหลุมพลอย ๙ แห่ง แล้วจึงฝังพลอย ๙ อย่าง ที่ ๑ เพชร ที่ ๒ ทับทิม ที่ ๓ มรกต ที่ ๔ เพทาย ที่ ๕ บุษย์ ที่ ๖ นิล ที่ ๗ มุกดา ที่ ๘ โกเมน ที่ ๙ ไพฑูรย์ แล้วประดับเพชรเล็ก ๆ เป็นเนื่องสองข้างบ้าง เป็นลายต่าง ๆ สองข้างบ้าง ทำให้งามดีแล้วสอดไว้ในประคตที่คาดกับเอว พระเจ้าแผ่นดินก็ทรง และพระราชทานให้ผู้มีบรรดาศักดิ์ใหญ่ ๆ ตั้งแต่ผู้เป็นที่สองพระเจ้าแผ่นดินลงไปจนเสนาบดี เมื่อเวลาการพิธีซึ่งสมมติว่าเป็นมงคล ผู้ใหญ่จะได้ทำคือตัดจุกเด็กและเจิมจุณเครื่องหอม และรดน้ำอวยชัยให้พร ในที่แต่งตั้งฐานันดรและการบ่าวสาว และวางศิลาฤกษ์ในที่ก่อตึกก่อกำแพง และป้อมใด ๆ ที่พระเจ้าแผ่นดินหรือผู้ใหญ่แทนพระเจ้าแผ่นดิน จะได้ลงมือเป็นฤกษ์ ผู้ลงมือทำการมงคลนั้นย่อมเอาวงแหวนนั้นสอดในนิ้วชี้มือขวา แล้วทำการมงคลนั้น ๆ ก็การที่คาดแหวนสอดในประคตนั้น เป็นที่สำแดงยศของผู้ใหญ่ในสยามแต่โบราณ "ในทุกวันนี้ มีผู้ยังได้ใช้เครื่องยศแหวนอย่างนั้นอยู่แต่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหญ่ ๑ พระองค์ที่สอง ๑ กรมหลวงเทเวศรวัชรินทร์ ๑ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ๑ ทั้งสี่นี้เป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ ๑ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ๑ ทั้งสองนี้เป็นพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนนรานุชิต ๑ กรมหมื่นอมรมนตรี ๑ ทั้งสองนี้เป็นพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ สมุหพระกลาโหม ๑ เจ้าพระยาพระคลังว่าการต่างประเทศ ๑ เจ้าพระยาภูธราภัย สมุหนายก ๑ ทั้งสามนี้เป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ มีอยู่ ๑๑ เท่านี้ "และแหวนพลอย ๙ อย่างนี้ ฝ่ายสยามนับถือว่าเป็นมงคลใหญ่หลวง อนึ่งของสำหรับพนักงานผู้ปฏิบัติพระเจ้าแผ่นดินถวายเครื่องใหญ่ คือถูกต้องที่สูงในเวลาต้องการ มีอยู่ในส่วนพระเจ้าแผ่นดินใหญ่สองวง ในพระเจ้าแผ่นดินที่ ๒ สองวง แหวนนั้นประดับพลอย ๙ อย่างเหมือนกัน แต่ไม่มีเครื่องเพชรข้าง ๆ และลงยาราชาวดีให้ผิดเครื่องยศ และเล็กย่อมกว่าเครื่องยศ แหวนสองวงนั้น สำหรับเจ้าพนักงานสอดสวมในนิ้วเมื่อเวลาถวายเครื่องใหญ่ ไม่ว่าใครประจำก็ตาม การอันนี้ผู้มีบรรดาศักดิ์ต่าง ๆ ตลอดไปจนราษฎรที่มั่งมี ก็ทำขึ้นไว้ใช้สอยบ้างในการมงคล แต่เพราะเป็นของลงยาผิดกันกับเครื่องยศ หรือเป็นแต่ทองเปล่าไม่มีเพชรประดับข้าง และเล็กย่อมกว่าของเครื่องยศ ก็หาได้มีกฎหมายห้ามปรามไม่แต่โบราณมา ผู้ที่เขามี เขาก็ใช้แต่ในเวลาทำการมงคลของเขา คือตัดจุกและเจิมจุณเครื่องหอม และการอื่น ๆ ไม่ได้มีใครสอดประคตคาดอย่างเครื่องยศ..." เท่าที่ข้าพเจ้าได้อัญเชิญพระราชนิพนธ์ "เรื่อง แหวนนพเก้า" ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาเสนอท่านผู้ฟังนี้ก็เพื่อจะได้ทราบถึงลักษณะของแหวนที่พระเจ้าอยู่หัวทรงใช้เองและพระราชทานให้แก่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่เท่านั้น ต่อมาแม้ประชาชนที่มีฐานะดีก็ทำแหวนนพเก้าใช้กันบ้าง ทั้งนี้เพราะมิได้มีกฎหมายห้ามไว้ ต่อไปคำว่า "นพเก้า" ในพจนานุกรมก็ต้องปรับปรุง แก้ไขให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น.
|