หลักเกณฑ์การเว้นวรรค
ในการเขียนหรือพิมพ์หนังสือไทย การเว้นช่องว่างระหว่างคำ
ข้อความหรือประโยคให้ถูกต้องเป็นสิ่งจำเป็นมาก
เพราะจะทำให้ข้อเขียนนั้นมีความถูกต้อง แจ่มแจ้ง ชัดเจน
และอ่านได้ตรงตามความต้องการของผู้เขียน
วรรค คือ คำ ข้อความ หรือประโยคช่วงหนึ่ง ๆ
การเว้นวรรค หมายถึง การเว้นช่องว่างระหว่างวรรค
การเว้นวรรคแบ่งออกเป็น
—การเว้นวรรคเล็ก
มีระยะห่างระหว่างวรรคประมาณเท่ากับความกว้างของพยัญชนะ ก
—การเว้นวรรคใหญ่ มีระยะห่างระหว่างวรรคประมาณ ๒
เท่าของการเว้นวรรคเล็ก
ในการเขียนหรือพิมพ์หนังสือไทย มีหลักเกณฑ์ในการเว้นวรรค ดังนี้
๑. กรณีที่ต้องเว้นวรรค
๑.๑ การเว้นวรรคใหญ่
เว้นวรรคใหญ่เมื่อจบข้อความแต่ละประโยค
- นั่งให้เรียบร้อย อย่าไขว่ห้าง
- วิทยาการเป็นต้นธารให้บังเกิดความรู้และความสามารถในอันที่จะประกอบกิจตาม
หน้าที่ได้ดี
ความเจริญงอกงามทั้งทางจิตใจและทางวัตถุย่อมเป็นผลสืบเนื่องมาจากวิทยาการ
บ้านเมืองจะเจริญหรือเสื่อมก็เนื่องด้วยวิทยาการ
๑.๒ การเว้นวรรคเล็ก
เว้นวรรคเล็ก ในกรณีต่อไปนี้
๑.๒.๑
ในประโยครวมให้เว้นวรรคเล็กระหว่างประโยคย่อยที่มีใจความสมบูรณ์และเชื่อม
กับประโยคอื่น ๆ ที่ขึ้นต้นด้วยคำสันธาน “และ” “หรือ” “แต่” ฯลฯ
- นายแดงอยู่ที่บ้านคุณพ่อของเขาที่ปากน้ำโพ แต่พี่ชายของเขาอยู่ที่บ้านซื้อใหม่ในกรุงเทพฯ
- การเขียนหนังสือโย้หน้าเย้หลังไม่เป็นระเบียบ หรือการขาดความระมัดระวังในเรื่องช่องไฟ
อาจเป็นเครื่องหมายส่อนิสัยของผู้เขียนเองได้
- พุทธกับไสย แม้ต่างกันเป็นคนละด้าน แต่ก็ไม่เป็นสิ่งขัดแย้งกันในความเชื่อถือของคนชั้นสามัญทั่วไป แต่ถ้าเป็นประโยคสั้นให้เขียนติดกัน
แต่ถ้าเป็นประโยคสั้นให้เขียนติดกัน
- ฉันและเธอไปโรงเรียน
- เขาอยากได้ดีแต่เขาก็ไม่ได้ดี
- น้ำขึ้นแต่ลมลง
๑.๒.๒ เว้นวรรคเล็กระหว่างชื่อกับนามสกุล
๑.๒.๓ เว้นวรรคเล็กหลังคำนำพระนามพระบรมวงศานุวงศ์ พระนาม
และฐานันดรศักดิ์
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
- สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
- สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์
๑.๒.๔ เว้นวรรคเล็กระหว่างชื่อบริษัท ธนาคาร ฯลฯ กับคำ “จำกัด”
ที่อยู่ท้ายชื่อ
- บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มั่นคง จำกัด
- ธนาคารทหารไทย จำกัด
๑.๒.๕ เว้นวรรคเล็กระหว่างคำ “ห้างหุ้นส่วนจำกัด” และ
“ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล” กับชื่อ
- ห้างหุ้นส่วนจำกัด วีวรสิน
- ห้างหุ้นส่วนจำกัดสามัญนิติบุคคล ปัญญากิจ
๑.๒.๖ เว้นวรรคเล็กระหว่างชื่อสถานที่ต่าง ๆ เช่น ถนน ตำบล/แขวง
อำเภอ/เขต จังหวัด
- ราชบัณฑิตยสถาน ในพระบรมมหาราชวัง ถนนหน้าพระลาน
แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๐๐
๑.๒.๗ เว้นวรรคเล็กระหว่างคำนำหน้านามแต่ละชนิด
- ศาสตราจารย์ นายแพทย์ หม่อมหลวงเกษตร สนิทวงศ์ หรือ ศ. นพ.
ม.ล.เกษตร สนิทวงศ์
๑.๒.๘ เว้นวรรคเล็กระหว่างยศกับชื่อ
- จอมพล ป. พิบูลสงคราม
- พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ หรือ พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่
- ร้อยโทหญิง สุชาดา ทำความดี
๑.๒.๙ เว้นวรรคเล็กระหว่างกลุ่มอักษรย่อ
- นายเสริม วินิจฉัยกุล ป.จ. ม.ป.ช. ม.ว.ม.
๑.๒.๑๐ เว้นวรรคเล็กระหว่างตัวหนังสือกับตัวเลข
- เขาเลี้ยงสุนัขไว้ที่บ้านตั้ง ๓๐ ตัว
๑.๒.๑๑ เว้นวรรคเล็กระหว่างวันกับเวลา
- ราชบัณฑิตยสถานกำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยทุกวันพฤหัสบดี
เวลา ๑๐.๐๐ น.
๑.๒.๑๒ เว้นวรรคเล็กหลังข้อความที่เป็นหน่วยมาตราต่าง ๆ
กับข้อความที่ตามมา
- โต๊ะประชุมแต่ละตัวมีขนาดกว้าง ๐.๘๐ เมตร ยาว ๑.๖๐ เมตร สูง
๐.๖๐ เมตร
๑.๒.๑๓ เว้นวรรคเล็กระหว่างตัวหนังสือไทยกับตัวหนังสือภาษาอื่น
- ข้าวเย็นเหนือเป็นชื่อไม้เถาชนิด Smilax china
L. ในวงศ์ Smilacaceae เหง้าใช้ทำยาได้.
๑.๒.๑๔ เว้นวรรคเล็กระหว่างรายการต่าง ๆ
เพื่อแยกรายการแต่ละรายการ ทั้งที่เป็นข้อความและกลุ่มตัวเลข
- ศีล สมาธิ ปัญญา สามอย่างนี้เรียกว่า ไตรสิกขา
- เลือกข้อความที่ถูกต้องเพียงข้อเดียวจากข้อ ก ข ค ง
- ๑๕ ๑๓ ๑๑ ๙ ๗ ๕ ๓ ๑ ต่างก็เป็นจำนวนเลขคี่
๑.๒.๑๕ เว้นวรรคระหว่างเครื่องหมายต่าง ๆ
๑.๒.๑๕.๑ เว้นวรรคเล็กหน้าและหลังเครื่องหมายไปยาลใหญ่ ไม้ยมก
เสมอภาคหรือเท่ากับ ทวิภาค วิภัชภาค และเครื่องหมาย + ที่ใช้ในทางภาษา
(มิใช่เครื่องหมาย + ที่ใช้ในทางคณิตศาสตร์)
- เขาเจริญพุทธคุณว่า อิติปิ โส ฯลฯ ภควาติ
- วันหนึ่ง ๆ เขาทำอะไรบ้าง
- อเปหิ = อป + เอหิ
- กฤษณา : กฤษณาสอนน้อง แบบเรียนกวีนิพนธ์
- ในการจัดสัมมนาครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการสัมมนา ได้แก่ :–
     ราชบัณฑิต
     ภาคีสมาชิก
     ผู้แทนองค์กรที่เกี่ยวข้อง
     นักวิชาการ
     และประชาชนผู้สนใจ
๑.๒.๑๕.๒
เว้นวรรคเล็กหน้าเครื่องหมายอัญประกาศเปิดและวงเล็บเปิด
- สถานภาพของสตรีในสังคมอินเดียในอดีตมีลักษณะคล้าย “เถาวัลย์”
หรือบางทีก็ดูคล้าย “กาฝาก” เพราะสตรีไม่สามารถพึ่งตนเองได้
- มนุษย์ได้สร้างโลภะ (ความโลภ) โทสะ (ความโกรธ) และโมหะ
(ความหลง) ให้แก่ตัวเองทั้งสิ้น
๑.๒.๑๕.๓ เว้นวรรคเล็กหลังเครื่องหมาย จุลภาค อัฒภาค ไปยาลน้อย
อัญประกาศปิด และวงเล็บปิด
- พระพุทธ, พระธรรม, พระสงฆ์ เป็นรัตนะ ๓ ของพุทธศาสนิกชน
- ชีวิตของตนเป็นที่รักยิ่งฉันใด ชีวิตของผู้อื่นก็ปานนั้น;
สัตบุรุษเอาตนเข้าไปเทียบดังนี้
จึงกระทำความเมตตากรุณาในสัตว์มีชีวิตทั่วไป
- โอ๊ย ! มาไม่ทันรถอีกแล้ว
- สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
- สถานภาพของสตรีในสังคมอินเดียในอดีตมีลักษณะคล้าย “เถาวัลย์”
หรือบางทีก็ดูคล้ายเป็น “กาฝาก” เพราะสตรีไม่สามารถพึ่งตนเองได้
- มนุษย์ได้สร้างโลภะ (ความโลภ) โทสะ (ความโกรธ) และโมหะ
(ความหลง) ให้แก่ตนเองทั้งสิ้น
๑.๒.๑๖ เว้นวรรคเล็กหลังข้อความที่เป็นหัวข้อ
- อุทานวลี
อุทานวลีหมายถึงคำอุทานที่มีคำอื่นประกอบท้ายให้เป็นวลียืดยาวออกไป
เช่น คุณพระช่วย
- วิเคราะห์กลวิธีดำเนินเรื่อง
ในการวิเคราะห์กลวิธีดำเนินเรื่องจำเป็นต้องเข้าใจศิลปะการอ่าน
หรือกติกาของนักอ่าน
นักอ่านต้องพยายามทำใจเกี่ยวกับสัญนิยมของการแต่งหนังสือ
๑.๒.๑๗ เว้นวรรคเล็กทั้งข้างหน้าและข้างหลังคำ ณ ธ
- การนำสัตว์ขึ้นหรือลง ณ สถานีใด
ให้เป็นดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ประจำท้องที่
- ผลพระคุณ ธ รักษา ปวงประชาเป็นศุขสานต์
๑.๒.๑๘ เว้นวรรคเล็กหน้าและหลังคำว่า “ได้แก่” ที่ตามด้วยรายการ
มากกว่า ๑ รายการ
- เครื่องล่อใจให้ติดอยู่ในโลก ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส
และสัมผัส
- อาหารที่ช่วยป้องกันและต้านทานโรค ได้แก่ โปรตีน เกลือแร่
และวิตามิน
๑.๒.๑๙ เว้นวรรคเล็กหน้าและหลังคำ “เช่น” (ในความหมายว่า
ยกตัวอย่าง)
- ส่วนหนึ่งแห่งสกลจักรวาล เช่น มนุษยโลก เทวโลก พรหมโลก
ยกเว้น “เช่น” ที่มีความหมายว่า “อย่าง, เหมือน”
ไม่ต้องเว้นวรรคทั้งหน้าและหลังคำ
- ดำ ว. มีสีเช่นสีเขม่า, มืด.
- ใจดำเช่นกา
๑.๒.๒๐ เว้นวรรคเล็กหน้าคำสันธาน “และ”, “หรือ” ในรายการ
- ระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยการผลิต การบรรจุ
การเก็บรักษา การสำรวจ การขนย้าย การจำหน่าย และการส่งมอบน้ำตาลทราย
- แล้วกัน (ปาก) ว. ออกเสียงแสดงความไม่พอใจ ตกใจ เสียใจ
หรือประหลาดใจ เป็นต้น.
ยกเว้น ถ้ามีเพียง ๒ รายการ ไม่ต้องเว้นวรรค
- ส่งเสริมสวัสดิการของครูและนักเรียนของโรงเรียน
- เสียงสระทุกเสียงเป็นเสียงก้องหรือเสียงโฆษะ
๑.๒.๒๑ เว้นวรรคเล็กหน้าคำ “เป็นต้น” ที่อยู่หลังรายการ
- ประเภท น. ส่วนที่แบ่งย่อยออกไปเป็นพวก จำพวก ชนิด หมู่ เหล่า
อย่าง แผนก เป็นต้น.
- บ้านเป็นคำไทย เดิมหมายความว่าหมู่บ้าน
ปัจจุบันยังมีเค้าให้เห็นอยู่ในชื่อตำบลต่าง ๆ มี บ้านหม้อ บ้านหมี่
บ้านไร่ บ้านนา บ้านบ่อ เป็นต้น
๑.๒.๒๒ เว้นวรรคเล็กหลังคำว่า “ว่า”
ในกรณีที่ข้อความต่อมาเป็นประโยค
- จะสังเกตได้ว่า คนถนัดมือซ้ายมีน้อยกว่าคนที่ถนัดมือขวา
๒. กรณีที่ไม่เว้นวรรค
๒.๑ ไม่เว้นวรรคระหว่างคำนำหน้าชื่อกับชื่อ
- พระมหาสุทธิ สุทฺธิญาโณ
- นายเสริม วินิจฉัยกุล
- นางอินทิรา คานธี
- นางสาววารุณี วงศ์คนไทย
- เด็กชายวรา สิทธิ์รัตน์
- เด็กหญิงสิรินท์ ทองดี
- คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง
- คุณหญิงปิ๋ว มหาโยธา
- ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร
๒.๒ ไม่เว้นวรรคระหว่างบรรดาศักดิ์ สมณศักดิ์ ฐานันดรศักดิ์
กับนาม หรือราชทินนาม
- หลวงวิศาลศิลปกรรม
- หม่อมราโชทัย
- สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
- หม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ
- เจ้าจอมมารดาชุม (ในรัชกาลที่ ๔)
๒.๓
ไม่เว้นวรรคระหว่างคำนำหน้าชื่อที่เป็นตำแหน่งหรืออาชีพกับชื่อ
- ศาสตราจารย์รอง ศยามานนท์
- นายแพทย์ดำรง เพ็ชรพลาย
๒.๔ ไม่เว้นวรรคระหว่างคำหน้าชื่อที่แสดงฐานะของนิติบุคคล
หน่วยงาน หรือกลุ่มบุคคลกับชื่อ
- สมาคมข้าราชการพลเรือนแห่งประเทศไทย
- มูลนิธิสายใจไทย
- สำนักพิมพ์เมืองโบราณ
- โรงพิมพ์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
- โรงเรียนสตรีวิทยา
- บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มหาสมุทร จำกัด
- กรมปศุสัตว์
- กระทรวงศึกษาธิการ
- คณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย
๒.๕ ไม่เว้นวรรคหลังเครื่องหมายไปยาลน้อย
ในกรณีที่มีเครื่องหมายอื่นตามมา
- รถไฟเที่ยวจากกรุงเทพฯ-เชียงใหม่
๒.๖ ไม่เว้นวรรคทั้งหน้าและหลังเครื่องหมายยัติภังค์ ยัติภาค
- -กระเฉง ใช้เข้าคู่กับคำกระฉับ เป็น กระฉับกระเฉง.
- ภาษาตระกูลไทย–จีน
หลักเกณฑ์นี้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ
แต่บางครั้งอาจเว้นวรรคหรือไม่เว้นวรรคก็ได้
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้เขียน
- นอกจากเงิน ยังมีโล่ทุกรางวัล
หรือ
นอกจากเงินยังมีโล่ทุกรางวัล
Source :
หนังสือหลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายวรรคตอนและเครื่องหมายอื่น ๆ
หลักเกณฑ์การเว้นวรรค หลักเกณฑ์การเขียนคำย่อ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
พิมพ์ครั้งที่ ๖ หน้า ๕๖-๖๖